บทความสุขภาพ

PM 2.5 ฝุ่นเล็กจิ๋ว แต่ส่งผลต่อสุขภาพมหาศาล

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

 
  • ฝุ่นละออง PM2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หอบหืด หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ และที่อันตรายที่สุดอาจถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด
  • ควรงดออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เนื่องจากการใช้แรงมากหรือการหายใจแรง อาจยิ่งเพิ่มการสูดเอาละอองฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น
  • การสวมหน้ากาก N95 ต้องทำอย่างถูกวิธี หมั่นกระชับหน้ากากไม่ให้หลวม และไม่ควรนำหน้ากากใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่หากมีฝุ่นละอองหนาเกินไป

องค์กรอนามัยโลก (WHO)  ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่  50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
แต่ไม่ว่าจะถือมาตรฐานใด ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติด้วยปริมาณเกือบ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะบริเวณริมถนนหรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นและรอบสถานที่ก่อสร้าง

 

ทำความรู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5

เป็นเรื่องปกติที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเมืองหลวงของอีกหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศอยู่เสมอ ด้วยประชากรหนาแน่น ความคับคั่งของการจราจร รวมถึงเขม่าควัน และฝุ่นผงจากการก่อสร้าง 
แต่ปัญหาวิกฤติที่ชาวกรุงเทพฯ กำลังวิตกคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter 2.5 – PM2.5) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ขาดความตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวง ฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5   ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ของทั้งรถยนต์ใหม่และเก่า มักมีปริมาณสูงสุดช่วงรถติดมากๆ ในช่วงเช้าและเย็นของวันทำงาน  โดยมากจะเกิดในช่วงฤดูหนาวที่อากาศนิ่งและแห้ง ส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง  อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ  กำลังประสบปัญหาลมพัดผ่านได้ยาก อากาศหยุดนิ่ง เนื่องจากมีตึกสูงปิดกั้นทางลม รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลง
นอกจากนี้ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ที่สำคัญเกิดจากไนโตรเจนไดออกไซด์  (NO2)  ถูกปล่อยสู่อากาศมากมายจนเกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโอโซนและแสงแดด กลายเป็นฝุ่นผงขนาดเล็กที่เป็นปัญหา   
ไนโตรเจนไดออกไซด์ เกิดจากการสันดาปภายในของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งในหลายๆ ประเทศที่ห่วงใยปัญหาสุขภาพของประชาชนเป็นหลักได้พยายามลดการใช้รถยนต์ดีเซลลง

 

ภัยร้ายแรงของฝุ่นจิ๋ว

ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นละอองพิษ PM2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด  บางอนุภาคยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย   
 

ภัยร้ายต่อทางเดินหายใจและปอด 

แน่นอนว่ามลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ยิ่งเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า  ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด 
 

ภัยร้ายต่อหัวใจ

การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเล็กจิ๋วติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน 
 

ภัยร้ายต่อสมอง

เมื่อฝุ่นผงขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น  ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว  ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้
 

กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษ

ชาวกรุงเทพฯ ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษที่ไม่ป้องกัน มีความเสี่ยงเกิดโรคมากน้อยขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดหรือโรคหัวใจ ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงขึ้น
 

เด็ก

อาจกล่าวได้ว่ายิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น  เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ฝุ่นพิษในอากาศที่สามารถเข้าสู่ระทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่ายจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่างๆ  หรือทำให้เกิดโรคร้ายแรงในที่สุด 
 

หญิงมีครรภ์

นอกจากภัยร้ายส่งผลต่อตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูดฝุ่นละอองโดยตรงแล้ว ทารกในครรภ์ยังเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน  มีการศึกษาพบว่ามลพิษในอากาศมีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด  เสี่ยงแท้งบุตร และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้
 

ผู้สูงอายุ 

เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะเริ่มเสื่อมถอย ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลงดลง หากต้องเผชิญกับฝุ่นละออง อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหอบหืด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่นพิษให้มากที่สุด 
 

ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่างๆ การสูดฝุ่นผงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงส่งผลให้โรคกำเริบ อาจถึงกับชีวิตได้   
 

การป้องกันพิษฝุ่น PM 2.5 ด้วยตัวเอง

หน้ากาก

ป้องกันตัวเองจากการสูดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยมาสก์ปิดจมูกที่สามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองพิษได้สูง เช่น หน้ากาก N95 กรองได้อย่างน้อย  95%  และหน้ากาก N99 กรองได้มากถึง 99%  โดยต้องสวมอย่างถูกต้องตามวิธีที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ยังควรหมั่นกระชับหน้ากากไม่ให้หลวม เนื่องจากฝุ่นละอองมีขนาดเล็กมากจะสามารถลอดผ่านหน้ากากได้ง่าย  ไม่ควรนำหน้ากากใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่หาก มีฝุ่นละอองหนาเกินไป
 

แอพช่วยดูค่าฝุ่น

การเฝ้าระวังระดับมลพิษด้วยการโหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น   Asia Air Quality (Android), Global Air Quality (Android) และ Air Quality Index (iOS)
 

หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน

การเดินทางกลางแจ้งส่งผลให้ต้องสัมผัสและสูดดมละอองฝุ่นจำนวนมาก จึงควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้งควรงดในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เนื่องจากการใช้แรงมากหรือหายใจแรงอาจยิ่งเพิ่มการสูดเอาละอองฝุ่นผง PM2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น
 

พยายามอยู่บ้านหรือภายในอาคารที่ปิดมิดชิด 

อาจใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านแม้อุณภูมิภายนอกไม่สูง หรือปิดหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่มีมลพิษสูง  บางกรณีอาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกรองอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก
 

งดสูบบุหรี่และกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน

การสูบบุหรี่หรือสูดกลิ่นควันอาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจและปอดอ่อนแอ เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นพิษในอากาศยิ่งส่งผลให้สุขภาพแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงเกิดหอบหืดและมะเร็งปอด
 

สังเกตตัวเอง

โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรพกยาติดตัวเสมอ หรือพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่นของมลพิษทางอากาศ หรือไม่แน่ใจการป้องกันตนได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยง หากพบอาการ เช่น  หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง  ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที
อย่ามองข้ามปัญหามลพิษร้ายแรงที่คนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญ เพราะฝุ่นเล็กจิ๋วที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​