บทความสุขภาพ

ผ่าตัดต้อกระจก ลอกตาต้อกระจก พักฟื้นกี่วัน มีวิธีดูแลหลังผ่าตัดอย่างไร

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ผ่าตัดต้อกระจก

ผ่าตัดต้อกระจก เป็นวิธีการรักษาต้อกระจกเพียงวิธีเดียว หลังการผ่าตัดจะทำให้ผู้ที่เคยเป็นต้อกระจกกลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง อีกทั้งเลนส์ในปัจจุบัน ยังสามารถรักษาอาการสายตายาวและสายตาเอียงได้อีกด้วย

แต่ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัด ผู้เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่มักมีความกังวล ต้องการทราบว่าผ่าตัดต้อกระจก อันตรายหรือไม่ พักฟื้นกี่วัน ต้องนอนโรงพยาบาลไหม ผ่าตัดที่ไหนดี และราคาเท่าไหร่ ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์จึงรวบรวมคำถาม และตอบข้อสงสัยทั้งหมดในบทความนี้

 


ผ่าตัดต้อกระจก (Cataract Surgery)

การผ่าตัดต้อกระจก (Cataract Surgery) คือการรักษาต้อกระจกด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา โดยที่การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาทางเดียวของโรคต้อกระจก เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียาใดๆ ที่สามารถชะลออาการของโรค หรือทำให้ต้อกระจกหายไปได้ ซึ่งการผ่าต้อกระจกมี 2 วิธี จะเลือกใช้ตามอาการของผู้ป่วย แต่ก่อนจะรู้จักวิธีการผ่าตัดต้อกระจก ควรรู้จักต้อกระจกในเบื้องต้นเสียก่อน
 

ทำความรู้จักโรคต้อกระจก 

ต้อกระจก (Cataract) เป็นความผิดปกติของดวงตาในส่วนเลนส์ตา (Lens) โดยเลนส์ตาของผู้ป่วยจะขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป อาจจะใช้เวลาหลายปีตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อเลนส์ตาขุ่น แสงเข้ามาในเลนส์ตาได้ลดลง ทำให้ผู้ที่เป็นต้อกระจกมองเป็นไม่ชัด สายตาสั้นมากขึ้น ตามัว ตาพร่า เกิดภาพซ้อนเป็นต้น

ต้อกระจกเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งอายุมาก การติดเชื้อบางอย่างเมื่ออยู่ในครรภ์ จ้องแสงแดด แสงยูวีมากเกินไป หรือใช้สายตามากเกินไป ปัจจัยเหล่านี้จะไปทำให้โปรตีนในเลนส์ตามีโครงสร้างทางเคมีที่เปลี่ยนไป จากสีใสจึงเริ่มขุ่นมัว ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเท่าเดิม

อาการของผู้ที่เป็นต้อชนิดนี้จะมีหลายระยะ ระยะแรกๆต้อกระจกจะไม่ส่งผลต่อการมองเห็นมากนัก สีขุ่นของเลนส์ก็ยังมองเห็นได้ไม่มาก ในระยะนี้ผู้ป่วยจะสายตาสั่นลง หรือสายตาเอียงเพิ่มขึ้น จนทำให้ง่ายสายตาเปลี่ยนได้ง่าย ต้องเปลี่ยนแว่นเพื่อปรับค่าสายตาอยู่บ่อยครั้ง

หากอาการหนักขึ้น จนต้อกระจกเป็นไตแข็งด้านในจนมีสีขุ่นเห็นได้ชัด ระยะนี้จะเรียกว่า “ต้อสุก” หากต้อสุกแล้ว ภาพที่ผู้ป่วยมองเห็นจะขุ่นมัวมากจนมองเห็นได้ลำบาก ใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น เมื่อถึงระยะนี้ จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเพื่อรักษาต้อกระจก
 

การรักษาต้อกระจกมีกี่วิธี

การรักษาต้อกระจกสามารถรักษาได้ 2 วิธีตามความรุนแรงของอาการต้อกระจก แพทย์จะพิจารณาระดับความรุนแรงของอาการแล้วจึงจะประเมินว่าผู้ป่วยแต่ละรายจะเข้ารับการรักษาแบบใด
 

1. การรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัด​ เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมาก เป็นต้อกระจกในระยะแรก ๆ เท่านั้น อาจจะใช้วิธีอย่างการสวมแว่นสายตา แว่นกันแดด หรือใช้ยาหยอดตา เพื่อช่วยชะลออาการได้ชั่วคราว

2. การรักษาต้อกระจกแบบผ่าตัด คือวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการต้อกระจกรุนแรง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีแนวโน้มจะเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต จำเป็นที่แพทย์จะผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออก แล้วจึงนำแก้วตาเทียมเข้ามาทดแทน

 

ทำไมต้องผ่าตัดต้อกระจก

สาเหตุที่ต้องผ่าต้อกระจก เป็นเพราะต้อกระจกไม่มียาทาน หรือยาหยอดตาสำหรับรักษาอยู่เลย การผ่าตัดจึงเป็นทางรักษาเดียวของโรคต้อกระจก

ในระยะแรกที่ต้อกระจกยังไม่ส่งผลต่อการมองเห็นมาก ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ให้รักษาตามอาการไปก่อน แพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นสายตาที่เหมาะกับค่าสายตาที่เปลี่ยนไป และใส่แว่นตัดแสง หากมองเห็นในที่สว่างได้ไม่ชัด หากต้อสุกจนมีผลกับการมองเห็นมากขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดต้อกระจกออก เพื่อให้กลับมามองเห็นได้ดีดังเดิม


คนไข้บางรายกังวลกับคำว่าผ่าตัด จึงมักมีคำถามว่าผ่าตัดต้อกระจก อันตรายไหม?

การผ่าตัดต้อกระจกนั้น เกิดแผลจากการผ่าตัดขนาดเล็กมาก ทำให้เสี่ยงกับการติดเชื้อได้น้อย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดก็สามารถรักษาได้ อีกทั้งการผ่าตัดต้อกระจกส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาสลบ ทำให้ความเสี่ยงจากการใช้ยาสลบนั้นไม่มีเลย การผ่าตัดต้อกระจกจึงไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด

การผ่าตัดต้อกระจกส่วนใหญ่จะใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น หลังผ่าตัดไม่ต้องนอนโรงพยาบาล พักฟื้นเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับมามองเห็นชัดได้ดังเดิม


วิธีการผ่าตัดต้อกระจกมีกี่แบบ

ผ่าตัดต้อกระจก ที่ไหนดี

วิธีการผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี คือวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่า และการผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ โดยที่การเลือกวิธีผ่าตัด จะขึ้นอยู่กับระยะอาการของโรค และลักษณะดวงตาของผู้เข้ารับการรักษา ซึ่งแพทย์จะเลือกเองว่าคนไข้แต่ละรายเหมาะกับการผ่าตัดแบบใด
 

1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่า

การผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่า หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction) เป็นการผ่าเปิดเพื่อนำต้อกระจกออกมาโดยตรง แล้วจึงใส่เลนส์ตาเทียมอันใหม่เข้าไป เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก

แพทย์จึงนิยมใช้รักษาผู้ที่เป็นต้อกระจกระยะหลังๆ ต้อสุกมากจนไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแบบใหม่ได้ แต่การผ่าตัดต้อกระจกแบบนี้ต้องใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างนาน อาจจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ กว่าที่ดวงตาจะปรับตัวกับเลนส์ใหม่ได้ และกลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง

 

2. การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่

การผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) คือ การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ โดยจะทำให้เนื้อเลนส์ที่ขุ่นมัวหายไปด้วย “คลื่นอัลตราซาวด์” คลื่นตัวนี้จะไปสลายต้อกระจกออก เมื่อต้อกระจกส่วนที่แข็งหายไป แพทย์จะใช้เครื่องมือดูดเลนส์ตาส่วนที่เหลือออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมอันใหม่เข้าไป

การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ หรือการลอกตาต้อกระจกสลายต้อนี้ เป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาผ่าตัด และเวลาพักฟื้นน้อยมาก ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดหลังผ่านไปเพียง 2 - 3 วัน 

นอกจากนี้ เลนส์ใหม่ที่ใส่เข้าไปสามารถรักษาค่าสายตายาวหรือสายตาเอียงได้ด้วย หรือที่เรียกว่า Phaco with IOL คือ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาค่าสายตาด้วยการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวโดยที่ไม่ทำเลสิคซ้ำ

 

 


ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม

ในการผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ หรือการสลายต้อกระจก เลนส์ตาเทียมที่จะใส่เข้าไปแทนที่เลนส์ตาเดิม เป็นเลนส์ตาแบบพับที่มีหลายชนิด แตกต่างกันไปตามการใช้งาน และค่าสายตาเดิมของผู้ป่วยก่อนเป็นต้อกระจก โดยชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม มีดังนี้
 

1. Monofocal Intraocular Lens (Monofocal IOL)  หรือเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว เป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับมองไกล

2. Multifocal Intraocular Lens (Multifocal IOL) หรือเลนส์ชนิดโฟกัสหลายระยะ โดยเลนส์นี้ จะมีประเภทย่อยลงไปอีก ได้แก่

          • Bifocal IOL เลนส์ชนิดโฟกัสสองระยะ จะเป็นโฟกัสระยะกลางและไกล หรือระยะใกล้และไกลก็ได้

          • Trifocal IOL เลนส์ชนิดโฟกัสสามระยะ เป็นเลนส์ที่สามารถโฟกัสได้ทั้งระยะใกล้ กลาง และไกล

3. Toric Intraocular Lens (Toric IOL) หรือเลนส์แก้ไขสายตาเอียง

นอกจากนี้ ยังมีเลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว หรือหลายระยะ ที่สามารถแก้ไขค่าสายตาเอียงด้วย จะเรียกว่า Monofocal Toric IOL และ Multifocal Toric IOL


ชนิดของเลนส์ ระยะโฟกัส การแก้ไขสายตาเอียง
เลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal IOL) ระยะไกล -
เลนส์ชนิดโฟกัสสองระยะ (Bifocal IOL) ระยะใกล้และไกล / ระยะกลางและไกล -
เลนส์ชนิดโฟกัสสามระยะ (Trifocal IOL) ระยะใกล้ กลาง และไกล -
เลนส์แก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) - แก้ไขได้
เลนส์ชนิดโฟกัสระยะเดียว แก้ไขสายตาเอียง (Monofocal Toric IOL) ระยะไกล แก้ไขได้
เลนส์ชนิดโฟกัสสองระยะ แก้ไขสายตาเอียง (Bifocal Toric IOL) ระยะใกล้และไกล / ระยะกลางและไกล แก้ไขได้
เลนส์ชนิดโฟกัสสามระยะ แก้ไขสายตาเอียง (Trifocal Toric IOL) ระยะใกล้ กลาง และไกล แก้ไขได้


ผู้ที่เข้าผ่าตัดต้อกระจกจะเหมาะกับเลนส์เทียมแบบไหน ขึ้นอยู่กับค่าสายตาก่อนการเป็นต้อกระจก การใช้งานสายตา และงบประมาณที่มีเป็นหลัก โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำเลนส์ที่เหมาะสมที่สุดให้

 


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก

ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ต้องมีการตรวจประเมินจากแพทย์ก่อน

ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจเกี่ยวกับอาการของโรค การขยายของม่านตา และตรวจดูจอประสาทตา เพื่อเลือกวิธีการและขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้เข้ารับการรักษา

แพทย์ยังต้องสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัว และดูประวัติการรักษาว่าเป็นโรคอะไรอยู่ กำลังใช้ยาอะไร เพื่อประเมินความเสี่ยงของการผ่าตัด และให้งดยาบางตัวหากประเมินแล้วว่าอาจมีผลกับการผ่าตัด

นอกจากการตรวจดังกล่าว แพทย์ยังต้องตรวจประเมินสายตาก่อนการผ่าตัดต้อกระจกด้วย

 

การตรวจประเมินสายตาก่อนผ่าตัดต้อกระจก

การตรวจประเมินสายตาก่อนการผ่าตัดต้อกระจก ทำเพื่อให้แพทย์ทราบค่าสายตาของผู้เข้ารับการรักษา จะได้ทราบว่าควรต้องใช้เลนส์เทียมแบบใด เพื่อแก้ไขปัญหาค่าสายตายาวหรือสายตาเอียงหลังการผ่าตัดต้อกระจก

โดยแพทย์จะวัดความโค้งกระจกตาและความยาวลูกตาก่อนขยายม่านตา แล้วนำข้อมูลนี้ไปใช้คำนวณค่าสายตาเพื่อเลือกเลนส์ต่อไป

 

สิ่งที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกควรทำก่อนการผ่าตัด

หลังปรึกษากับแพทย์ และนัดวัน เวลา และวิธีการผ่าตัดแล้ว แพทย์จะมีคำแนะนำเพื่อเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ดังนี้

• แพทย์จะให้ฝึกเอาผ้าคลุมหน้าและนอนหงายนิ่งๆเป็นเวลา 30 นาที โดยจะทำที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลก็ได้ ที่ต้องฝึกแบบนี้เพราะในขณะผ่าตัดต้อกระจก ผู้เข้ารับการรักษาจะรู้สึกตัว และต้องนอนนิ่งๆเป็นเวลา 15 - 30 นาทีเพื่อผ่าตัด 

• ในวันผ่าตัด ให้ใส่เสื้อผ้าที่ถอดง่าย สระผม ล้างหน้ามาจากบ้าน ไม่ควรทาครีม ทาแป้ง หรือแต่งหน้าในวันนั้น

• เช้าวันผ่าตัดลอกตาต้อกระจก สามารถทานอาหาร และยาที่ใช้เป็นประจำได้ตามปกติถ้าแพทย์ไม่ห้าม และไม่ได้ผ่าตัดโดยใช้ยาสลบ

• ตัดเล็บให้สั้น ห้ามทาเล็บในวันที่ผ่าตัดต้อกระจก เพราะแพทย์จะสังเกตความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดจากสีเล็บ

• ไม่ควรขับรถมาเอง ให้ผู้ดูแลมารับมาส่ง และดูแลหลังการผ่าตัด

• เตรียมแว่นกันแดดมาด้วยในวันผ่าตัด

• ก่อนเข้าผ่าตัด ให้ถอดของมีค่า เครื่องประดับ และฟันปลอมออกก่อน

 


ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก

ผ่าตัดต้อกระจก ราคา

การผ่าตัดต้อกระจก ไม่ว่าจะผ่าตัดด้วยวิธีไหน แพทย์จะใช้ยาชาเสมอ เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาไม่รู้สึกเจ็บขณะผ่าตัด ยาชานั้นจะเป็นยาชาเฉพาะที่แบบหยอด หรือเป็นแบบฉีดก็ได้ โดยแบบหยอดจะใช้กับการผ่าตัดสลายต้อแบบใหม่ ส่วนยาชาแบบฉีด จะใช้กับการผ่าตัดสลายต้อบางกรณี และกับการผ่าตัดเปิดแบบเก่า

ในคนไข้บางคนแพทย์จะใช้ยาสลบร่วมด้วย ในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าควรใช้

หากเป็นต้อกระจกทั้งสองข้าง ต้องการผ่าตัดรักษาทั้งสองข้าง แพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัดพร้อมกัน ควรผ่าตัดต้อกระจกทีละข้าง โดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อให้อีกข้างหนึ่งหายดีเสียก่อน
 

ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่า

1. แพทย์จะเปิดแผลที่ดวงตา ช่วงระหว่างกระจกตาบนตาดำ และตาขาว เปิดไว้ประมาณ 6 มิลลิเมตร แล้วจึงผ่าเอาต้อกระจกในส่วนที่แข็งมากออกไป
2. ใช้เครื่องมือ ดูดเลนส์ตาในส่วนที่เหลือออกทั้งหมด ให้เหลือแต่ถุงหุ้มเลนส์
3. นำเลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปในถุงหุ้มเลนส์ที่เหลือไว้ แล้วจึงเย็บปิดแผล

การผ่าตัดแบบเก่าใช้เวลาประมาณ 30 - 45 นาที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการเพียง 20 - 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้ แต่การผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีนี้ดวงตาจะใช้เวลาปรับตัวกับเลนส์ใหม่ค่อนข้างนาน โดยจะกลับมามองเห็นชัดอีกครั้งภายใน 4 - 6 สัปดาห์

เลนส์เทียมที่ใช้จะมีแบบเดียว คือเลนส์โฟกัสระยะไกลระยะเดียว
 

ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่

1. แพทย์จะเปิดปากแผลขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร เจาะถุงหุ้มเลนส์ แล้วสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปภายใน

2. เครื่องมือที่สอดเข้าไปจะปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์ออกมา คลื่นนี้จะเข้าไปสลายต้อในส่วนที่แข็งออก

3. ใช้เครื่องมือดูดเลนส์ตาส่วนที่เหลือออกมา โดยจะเหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้

4. ใช้เลนส์เทียมขนาดเล็กหรือเลนส์ชนิดพับที่สามารถเลือกระยะโฟกัส และรักษาค่าสายตาเอียงได้ ใส่เข้าไปในถุงหุ้มเลนส์

5. ไม่ต้องเย็บปิดแผล เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมาก

การผ่าตัดใช้เวลาเพียง 15 - 30 นาทีเท่านั้น คนไข้จะรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด แต่จะไม่รู้สึกเจ็บ ระหว่างผ่าตัดจะเหมือนถูกกดตาบ้าง และจะเห็นแสงไฟเคลื่อนที่ไปมาเป็นระยะ หลังผ่าตัดต้อกระจก คนไข้พักฟื้นเพียง 20 - 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้ยาสลบ 

การผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากผู้เข้ารับการรักษาสามารถกลับมามองเห็นได้อย่างปกติหลังผ่านไปเพียง 2 - 3 วันเท่านั้น
 


การดูแลหลังผ่าตัดต้อกระจก

ผ่าตัดต้อกระจก พักฟื้นกี่วัน

 
แม้แผลจากการผ่าตัดต้อกระจกจะเล็กมาก แต่ก็เป็นแผลผ่าตัดที่เสี่ยงกับการติดเชื้อ เกิดอาการแทรกซ้อน หรือเกิดข้อผิดพลาดได้หากดูแลดวงตาไม่ดีหลังผ่าตัด ดังนั้นหลังการผ่าตัด ผู้ที่ผ่าตัดต้อกระจกจะต้องดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการดูแลตนเองในเบื้องต้น มีดังนี้

• แพทย์จะจ่ายยาทั้งยาหยอดและยาสำหรับทานให้กับคนไข้หลังผ่าตัด ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

• วันแรกหลังผ่าตัดควรนอนพักผ่อนให้มากที่สุด ควรนอนหมอนสูง ห้ามนอนตะแคงด้านที่เพิ่งผ่าตัดต้อกระจก สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้

• หลังการผ่าตัด 1 วัน แพทย์จะนัดเปิดตาเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย และทำความสะอาด

• ทำความสะอาดดวงตาทุกวันอย่างถูกวิธี

• ห้ามขยี้ตา ห้ามสัมผัสดวงตาโดยไม่จำเป็น และควรระมัดระวังอย่าให้น้ำ หรือเศษฝุ่นละอองต่างๆเข้าตาโดยเด็ดขาด

• ควรใส่แว่นกันแดดในตอนกลางวัน และใส่ที่ครอบตาหลังผ่าตัดในตอนกลางคืนอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลา 1 เดือน

• ล้างหน้าด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า ควรสระผมที่ร้าน หรือให้ผู้ดูแลสระผมให้เพื่อป้องกันน้ำเข้าตา

• ระวังอย่าไอ จาม หรือเบ่งอย่างรุนแรง

• อย่าออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือก้มศีรษะต่ำกว่าเอวอย่างน้อย 1 เดือน

• ใช้สายตาอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือเล่นโทรศัพท์ได้ตามปกติ แต่ถ้าแสบตาหรือปวดตา ควรหยุดพัก

• ถ้าก่อนผ่าตัดงดยาไป แพทย์จะเป็นผู้แจ้งว่าให้กลับไปใช้ได้เมื่อไหร่

• ถ้าเกิดความผิดปกติกับดวงตา อย่างการปวดตา ตาบวมแดง มีขี้ตามาก ภาพไม่ชัด ภาพซ้อนเอียง ควรแจ้งแพทย์และนัดพบโดยเร็วที่สุด

 

อาการหลังผ่าตัดต้อกระจก

หลังจากผ่าตัดต้อกระจกทันที ผู้ป่วยอาจจะมีการระคายเคือง คันดวงตาบ้างเล็กน้อย แล้วจึงกลับมามองเห็นได้ชัดเป็นปกติ ซึ่งหลังผ่าตัดต้อกระจก 1 เดือน เพื่อให้เลนส์เทียมเข้าที่ ไม่ขยับเขยือนผิดที่ไป ผู้ป่วยจึงยังไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก กระเทือนไปถึงดวงตา

หลังจากผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาจจะพบว่าหลังผ่าตัดต้อกระจกแล้วมองไม่ชัด ตามัว หรือที่เรียกกันว่า Posterior Cassular Opacity (PCO) หรือ Secondary Cataract คือภาวะที่เซลล์ในถุงหุ้มเลนส์หลังเลนส์ตาเทียมก่อตัวหนาขึ้น  ขุ่นขึ้น ทำให้เกิดอาการตาพร่า มองไม่ชัด


 

ขั้นตอนการเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา

การเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา มีข้อปฎิบัติดังนี้

• ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้งก่อนจับดวงตาทุกครั้ง

• ใช้สำลีชุบน้ำเกลือ บิดให้หมาดเล็กน้อย เช็ดจากหัวตาไปหางตาจนสะอาดทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง 

• เช็ดตาอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 - 4 เดือนหลังการผ่าตัดต้อกระจก
 

 

วิธีการใช้ยาหยอดตา

วิธีใช้ยาหยอดตา มีข้อปฎิบัติดังนี้

• ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้งทุกครั้งก่อนใช้ยาหยอดตา

• อ่านวิธีใช้ของยาแต่ละขวดให้ละเอียด ยาบางชนิดควรเขย่าขวดก่อนใช้

• นอนราบ หรือนั่งเงยหน้าหลังพิงพนัก พยายามเอนศีรษะไปด้านหลัง 

• เตรียมหยอดตาด้วยการดึงเปลือกตาล่างลงมาให้เป็นแอ่ง แล้วมองขึ้นด้านบน

• หยอดตาลงไปที่แอ่งนั้นตามจำนวนหยดที่แพทย์แนะนำ 

• เมื่อหยอดตาเสร็จให้ปิดฝาเก็บโดยไม่ต้องเช็ดหัวหยด ในขณะหยอดตาก็ต้องระวังไม่ให้ปลายหัวหยดสัมผัสกับมือ ดวงตา เปลือกตา หรือขนตา เพราะจะทำให้ยาด้านในปนเปื้อน

• เมื่อหยอดตาแล้ว หลับตาค้างไว้ให้ยาซึมเข้าดวงตาสักครู่ ถ้ามียาเกินให้ใช้สำลีปลอดเชื้อเช็ดออก

• ถ้าต้องหยอดยาสองตัว ให้หยอดห่างกันประมาณ 3 - 5 นาที
 

วิธีใส่ที่ครอบตา

การดูแลดวงตาหลังผ่าตัดต้อกระจก ผู้ป่วยควรใส่ที่ครอบดวงตาในเวลาน้อยอย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน โดยควรทำความสะอาดที่ครอบดวงตาทุกวันด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน แล้วจึงล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า เช็ดให้แห้งก่อนนำมาครอบดวงตา

วิธีครอบตาหลังผ่าตัดเริ่มแรกผู้ใส่จะตัดพลาสเตอร์กาวให้ยาวประมาณ 5 นิ้ว 4 เส้น แล้วจึงเอาที่ครอบดวงตาหันด้านที่ตรงกว่าเข้าชิดจมูก แปะพลาสเตอร์ทับไปบนที่ครอบตาข้างละ 2 เส้นในแนวเฉียงไปหาแก้ม เป็นอันเรียบร้อย

 


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจก


ถึงแม้ว่าการผ่าตัดต้อกระจก จะเป็นวิธีการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและวิธีรักษาความสะอาดของแต่ละบุคคล โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้

1. อาการติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจก อาการนี้พบได้น้อย แต่ก็สามารถพบได้หากไม่รักษาความสะอาด ถ้าหลังผ่าตัดมีอาการบวมแดง เจ็บ ขี้ตาเยอะกว่าปกติมาก อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้พบแพทย์โดยเร็ว

2. จุดรับภาพบวม พบได้บ่อยหลังการผ่าตัดต้อกระจก พบร่วมกับอาการอักเสบหลังการผ่าตัด เมื่อจุดรับภาพบวม จะส่งผลให้ตามัว ภาพเบี้ยว มักจะเกิดหลังจากผ่าตัด 1 - 2 สัปดาห์ และสามารถหายเองได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน

3. ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น มักจะเกิดหลังจากผ่าตัดไปแล้วหลายปี ทำให้มองเห็นไม่ชัดอย่างเดิม ภาพขุ่นมัวลง หากเกิดอาการนี้ให้นัดพบแพทย์ แพทย์จะรักษาโดยการใช้ “Yag Laser” ยิงที่ดวงตาให้แสงเข้าไปในตาได้ดีขึ้น ใช้เวลายิงเลเซอร์เพียง 5 นาที พักสายตา และหยอดยาที่แพทย์ให้ประมาณ 1 - 2 วันก็สามารถกลับมาใช้สายตาได้ตามปกติ

 


ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดต้อกระจก

ผ่าตัดต้อกระจก ราคาเท่าไหร่? วิธีการคิดราคาเป็นอย่างไร?

ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราคิดค่าการผ่าตัดต้อกระจกตามชนิดเลนส์เทียมที่เลือกเปลี่ยนในการผ่าตัด โดยค่าผ่าตัดตามตารางนี้ เป็นราคาที่รวมค่าบริการทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว

ทางเลือกการรักษาต้อกระจก (แบบใหม่)

ราคาปกติ (บาท)

1. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสระยะเดียว 1 ข้าง (Phaco + IOL)

46,000

2. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสระยะกลาง - ไกล 1 ข้าง (Monofocal Eyhance)

49,900

3. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสระยะเดียวและแก้ไขสายตาเอียง 1 ข้าง (Phaco + Troric IOL)

66,000

4. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสหลายระยะ 1 ข้าง (Phaco + Multifocal IOL (Restor))

82,000

5. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงและฝังเลนส์พับได้ ชนิดโฟกัสหลายระยะและแก้ไขสายตาเอียง 1 ข้าง (Phaco + Multifocal Troric IOL (Restor))

96,000

• ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาจะต้องพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยก่อน

• ในกรณีที่ต้องใช้ยา เวชภัณฑ์ วัสดุอื่นนอกเหนือจากรายการที่กำหนด ทางโรงพยาบาลจะคิดค่าใช้จ่ายส่วนเกินตามอัตราปกติ

• ราคาสำหรับผ่าต้อกระจกในตารางนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับส่วนลดอื่นๆ ของทางโรงพยาบาลได้

• โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า

• ผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์เท่านั้น

• สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายตรงโทร 02-118-7848

 


ผ่าตัดต้อกระจกที่ไหนดี​

การผ่าตัดต้อกระจกควรเลือกโรงพยาบาลที่ดีที่สุด คนไข้ไว้ใจที่สุด และรู้สึกสบายใจที่จะเข้ารับการรักษามากที่สุด เพราะสิ่งที่มักมาพร้อมกับการผ่าตัดดวงตาคือความเครียด

ดวงตาเป็นอวัยวะรับการมองเห็น ที่เพียงมีอะไรอยู่ใกล้ตาก็สามารถทำให้ตกใจ หรือเครียดได้ การผ่าตัดดวงตาจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกยังต้องใช้ผ้าคลุมหน้า ปิดตาหนึ่งข้าง และนอนนิ่งอยู่บนเตียงเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง โดยที่คนไข้รู้สึกตัวตลอดเวลา

ในความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดต้อกระจกไม่อันตราย และผลการรักษาหลังการผ่าตัดนั้นดีมาก แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้คนไข้หลายคนเกิดความเครียดดนต้องใช้ยาสลบระหว่างผ่าตัด ดังนั้นที่สิ่งสำคัญมากของการเลือกโรงพยาบาลในการผ่าตัดต้อกระจก จึงเป็นการเลือกโรงพยาบาลที่คนไข้สบายใจที่จะรักษามากที่สุด

ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราให้ความสำคัญกับการบริการ และความสบายใจของคนไข้เมื่อต้องเข้ารับบริการเป็นหลัก การบริการของเราจะทำให้การหาหมอพบแพทย์ และการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

การรักษาทุกขั้นตอน ทำโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ครบครัน ทันสมัย และได้มาตรฐานระดับสากล


 


FAQ ผ่าตัดต้อกระจก

 

ผ่าตัดต้อกระจก เจ็บไหม

การผ่าตัดต้อกระจกนั้นไม่เจ็บเลย เพราะแพทย์ใช้ยาชาในการผ่าตัดทุกกรณี ดังนั้นระหว่างการผ่าตัดจะไม่เจ็บอย่างแน่นอน อาจจะรู้สึกถึงแรงกดที่ดวงตาบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เจ็บแต่อย่างใด
 

ผ่าตัดต้อกระจก พักฟื้นกี่วัน

ผ่าตัดต้อกระจก กี่วันหาย?

ผ่าตัดต้อกระจกพักฟื้นเพียง 1 วันก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแค่ต้องระมัดระวังการใช้ชีวิต ดูแลความสะอาดของดวงตา และใช้ยาที่แพทย์จ่ายให้อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ก็สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ปกติ

ส่วนดวงตานั้น จะปรับตัวกับเลนส์ใหม่ และมองเห็นได้ชัดในเวลา 2 - 3 วัน หากผ่าตัดด้วยวิธีสลายต้อแบบใหม่ ส่วนการผ่าตัดแบบเก่าจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์


ผ่าตัดต้อกระจกกี่วันจะโดนน้ำได้

หลายๆ คน อาจสงสัยว่า หากเข้ารับการผ่าต้อกระจกกี่วันล้างหน้าได้หรือโดนน้ำได้? คำตอบก็คือ ผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดต้อกระจกไม่ควรให้น้ำโดนดวงตา เป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ต้องการทำความสะอาดบริเวณใบหน้า หรือรอบ ๆ ดวงตา อาจจะเลี่ยงการล้างหน้าด้วยน้ำแบบปกติก่อน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาด เช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหน้าแทน
 

ผ่าตัดต้อกระจก กี่วันขับรถได้

ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน คนไข้ควรเลี่ยงการขับรถในวันแรกหลังผ่าตัด หากระหว่างขับรถไม่ได้มีแรงไปกระเทือนกับดวงตา และผ่าตัดขนาดเล็ก ไม่มีภาวะแทรกซ้อนคนไข้ก็สามารถขับรถได้ในวันถัดมา
 

ผ่าตัดต้อกระจก ต้องนอนโรงพยาบาลไหม

การผ่าตัดต้อกระจกไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแค่พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 20 - 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้

ในกรณีที่ต้องใช้ยาสลบ เมื่อผู้เข้ารับการรักษาฟื้นแล้ว ต้องให้แพทย์ดูอาการก่อน

ถ้าหลังฟื้นขึ้นมาปกติดี แพทย์จะให้กลับบ้านได้ แต่ผู้เข้ารับการรักษาต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผลข้างเคียงของยาสลบหายไปก่อน

แต่หากหลังจากฟื้นแล้วแพทย์เห็นว่ามีความผิดปกติ ผู้เข้ารับการรักษาต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรอดูอาการ หากไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้วแพทย์จึงให้กลับบ้านได้

 

ผ่าต้อกระจก อยู่ได้กี่ปี

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก จะสามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนกับคนทั่วไป และตาข้างที่เคยผ่าตัดต้อกระจกแล้วจะไม่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยภาพหลังจากฝังเลนส์แก้วตาเทียมแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด

 

ข้อสรุป

ผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี คือผ่าตัดแบบเก่า กับผ่าตัดแบบใหม่ การผ่าตัดแบบเก่าจะรักษาด้วยการผ่าเอาต้อกระจกออกมาโดยตรง ส่วนการผ่าตัดแบบใหม่จะใช้คลื่นอัลตราซาวน์เข้าไปสลายต้อกระจกในส่วนที่แข็งออก การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่นี้เป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากเห็นผลเร็วกว่า

ผู้ที่สนใจผ่าตัดต้อกระจกกับทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดเวลาพบแพทย์ได้ที่ Line@samitivejchinatown

 

 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​