บทความสุขภาพ

ตุ่ม PPE อาการผิวหนังที่บ่งบอกถึงเชื้อ HIV ซึ่งควรทำความรู้จักไว้ก่อนสายเกินแก้!

บทความโดย: seoteam seoteam วันที่อัพเดท: 15 พฤษภาคม 2567

ตุ่ม PPE

ทุกวันนี้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นภัยเงียบที่หลายคนอาจมองข้ามไป หนึ่งในนั้นคือโรคที่เกิดจากเชื้อ HIV ไวรัสตัวร้ายที่คุกคามระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ร่างกายของเราก็จะยิ่งรับมือกับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ยากขึ้น โดยหนึ่งในสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องของผู้ติดเชื้อ HIV นั่นก็คือ ตุ่ม PPE หรือ Pruritic Papular Eruption in HIV 

แล้วตุ่มคันเหล่านี้จะมีวิธีสังเกตอย่างไร แตกต่างจากตุ่มคันทั่วไปหรือไม่ แล้วเราจะมีวิธีป้องกันหรือรักษาตุ่มเหล่านี้ได้อย่างไร? ติดตามอ่านต่อทุกข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับอาการตุ่ม PPE และลักษณะต่าง ๆ ได้ในบทความนี้เลย


สารบัญบทความ


ตุ่ม PPE คืออะไร? สัญญาณเตือนภัยจากร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม!

ลักษณะของตุ่ม PPE เป็นอาการผื่นที่พบได้บ่อยในคนที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งมักเกิดขึ้นในบริเวณใบหน้า แขน หรือขาของผู้ป่วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้ติดเชื้อ HIV ควรสังเกตและเฝ้าระวัง เนื่องจากมักพบมากขึ้นในระยะโรคที่รุนแรงขึ้น และคนที่มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำลง โดยลักษณะของตุ่ม PPE อาจทำให้ผู้ป่วยสับสนได้ว่าเป็นอาการอื่น เช่น การอักเสบของผิวหนังหรือการแพ้ยา เพราะมักมีอาการคันคล้าย ๆ กัน

นอกจากนี้ ตุ่มคัน PPE ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ นอกเหนือจากเชื้อ HIV ก็ได้ ดังนั้น การเข้ารับการตรวจเพื่อระบุสาเหตุและการวินิจฉัยที่แม่นยำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ควรปรึกษาแพทย์หรือรับการตรวจและยาต้าน HIV เพื่อเช็กให้แน่ใจว่าอาการที่พบเป็นตุ่ม PPE จากเชื้อ HIV หรือไม่ เพราะการรับรู้และรักษาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและเพิ่มโอกาสในการควบคุมอาการให้ดียิ่งขึ้นในระยะต่อไป


ลักษณะของตุ่ม PPE

ตุ่ม PPE เป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยในคนที่ติดเชื้อ HIV โดยลักษณะของตุ่ม PPE โดยทั่วไปก็มีดังนี้

  • เป็นตุ่มคัน มีสีแดงหรือสีเนื้อ มีลักษณะนูน เหมือนตุ่มที่เกิดจากแมลงหรือยุงกัด
  • ตำแหน่งของแต่ละตุ่มมักจะเกิดขึ้นโดยเว้นระยะห่างที่เท่า ๆ กัน
  • ตุ่ม PPE สามารถขยายขนาดได้กว้างกว่า 5 มิลลิเมตร
  • เกิดขึ้นได้ทั่วไปในร่างกาย โดยอาจพบตุ่ม PPE ขึ้นที่หน้า แก้ม แขน ขา คอ
  • อาจมีรังแคเกิดขึ้นที่หนังศีรษะเป็นอาการร่วมด้วย 
  • บางคนอาจมีต่อมไขมันอักเสบ และผื่นมีสะเก็ดหนา 
  • ตุ่ม PPE จะเปลี่ยนจากสีแดงนูนเป็นสีคล้ำขึ้นเมื่อตุ่มเริ่มหาย

สาเหตุของการเกิดตุ่ม PPE

สาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่ม PPE บนร่างกายนั้นไม่ได้เกิดเพราะเชื้อโรคโดยตรง แต่เป็นเพราะภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องของผู้ที่ติดเชื้อ HIV โดยสามารถแบ่งสาเหตุหลัก ๆ ได้ดังนี้

  • ระดับ CD4 ต่ำ : ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ หรือ CD4 (Cluster of differentiation 4) ต่ำกว่า 75 cell/ml หรือสัดส่วนของ CD4 ต่ำกว่า 5% มักจะมีภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ
  • สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย : ภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอทำให้ร่างกายรับมือหรือป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาไม่ได้
  • ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกัน : เมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายพยายามต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมจะทำให้เกิดปฏิกิริยาจนเป็นตุ่มขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ

วิธีการตรวจวินิจฉัยตุ่ม PPE

ถ้ามีตุ่มขึ้นบนร่างกายและสงสัยว่าเป็นตุ่ม PPE หรือไม่ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และวินิจฉัย ดังนี้

  • ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 : โดยจะใช้การตรวจจากเลือดเป็นหลัก ซึ่งคนทั่วไปจะมีจำนวนเซลล์ CD4 ประมาณ 500-1,200 เซลล์/ลูกบาศก์เมตร ส่วนคนที่มีตุ่ม PPE จากเชื้อ HIV มักจะพบว่ามี CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลูกบาศก์เมตร
  • ตรวจ HIV : ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาด้วยชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อ HIV และตรวจแอนติเจนของเชื้อพร้อมกัน (HIV Ag/Ab Combination Assay), การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV (Nucleic Acid Amplification Testing: NAT) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้จากตุ่ม PPE

ภาวะแทรกซ้อนของตุ่ม PPE นั้นอาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะคนที่มีอาการคันแล้วเกาจนทำให้เกิดรอยดำหรือแผลเป็นตามจุดต่าง ๆ ในร่างกาย โดยการรักษาให้หายขาดอาจจะต้องใช้เวลาและการดูแลพอสมควร นอกจากนี้ การเกาตุ่ม PPE ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียซ้ำซ้อน และอาจนำมาซึ่งเชื้อราชนิดต่าง ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะกับส่วนที่อยู่ใต้ร่มผ้า ซึ่งมักมีเชื้อราเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือทันเวลา ซึ่งถ้าติดเชื้อ HIV ในระดับที่มีตุ่ม PPE แล้วนั้นก็ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น


การรักษาตุ่ม PPE

การรักษาตุ่ม PPE

การรักษาตุ่ม PPE โดยทั่วไปจะเน้นรักษาตามอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้น โดยการรักษาเบื้องต้นสำหรับคนที่มีตุ่ม PPE คือ ไม่ควรเกา ดูแลผิวไม่ให้แห้ง และรับประทานยาแก้แพ้และยาแก้คันเพื่อควบคุมอาการ โดยการดูแลด้วยวิธีเหล่านี้จะช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการภาวะแทรกซ้อนได้

และสำหรับการรักษาที่ต้นเหตุ จะเน้นการเพิ่มจำนวนเซลล์ CD4 เป็นหลัก ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการใช้ยาต้านไวรัสหรือ ARV ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดเชื้อ HIV ยับยั้งการแพร่เชื้อและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มี CD4 เพิ่มขึ้นเกิน 200 เซลล์/ลูกบาศก์เมตร 


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตุ่ม PPE

ตุ่ม PPE อาจสร้างความรำคาญ อาการคัน และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้อีกมากมาย หลายคนจึงมีคำถามเกี่ยวกับตุ่ม PPE โดยในหัวข้อนี้ เราจะมาตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตุ่ม PPE เพื่อหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

มีตุ่ม PPE แสดงว่าเป็น HIV ใช่หรือไม่?

การมีตุ่ม PPE เกิดขึ้นอาจไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นเพราะเชื้อ HIV หรือเป็นโรคเอดส์เสมอไป โดยเป็นความจริงที่ตุ่ม PPE เป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยในผู้ที่ติดเชื้อ HIV แต่ตุ่มนี้ไม่ได้เป็นอาการเฉพาะของ HIV แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น การแพ้ยา แมลงกัดต่อย หรืออาการผิวหนังอักเสบ โดยการตรวจวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV หรือเป็นโรคเอดส์หรือไม่นั้น แพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ผลเลือด จำนวนเซลล์ CD4 และอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้น การมีตุ่ม PPE เพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะมีเชื้อ HIV ในร่างกาย

ตุ่ม PPE สามารถรักษาเองได้ไหม?

การรักษาตุ่ม PPE สามารถดูแลรักษาด้วยตัวเองในเบื้องต้นได้ โดยพยายามไม่แกะ ไม่เกาที่บริเวณตุ่ม และดูแลให้ผิวหนังในบริเวณนั้นให้ชุ่มชื้นแต่ไม่อับชื้นอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อเช็กให้แน่ใจว่าเป็นตุ่ม PPE ใช่หรือไม่ แล้วเกิดจากสาเหตุอะไร หรือเป็นเพียงอาการทางผิวหนังแบบอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นตุ่ม PPE แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้หรือยาแก้คันในการรักษา เพื่อช่วยลดอาการผิวหนังระคายเคือง เช่น ยาทาโครลิมัส ยาสเตียรอยด์ที่มีความเข้มข้นสูง เป็นต้น

ตุ่ม PPE สามารถขึ้นบริเวณไหนได้บ้าง?

ปกติแล้วตุ่ม PPE เป็นอาการที่พบเห็นได้ทั่วไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งภายในและภายนอกร่มผ้า แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในบริเวณในร่มผ้ามากกว่า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ไม่โดนแสงแดดและความร้อน ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยบริเวณที่พบตุ่ม PPE ได้ เช่น ผิวด้านข้างของแขนขาส่วนล่าง ช่วงแขนส่วนบน ผิวด้านหลังของฝ่าเท้า หลังมือ ใบหน้า ไปจนถึงส่วนต่าง ๆ ที่มีไรผมและคิ้ว โดยตุ่ม PPE สามารถขึ้นกระจายได้หลายจุดทั่วร่างกาย และมีการเว้นระยะห่างระหว่างแต่ละจุดเท่า ๆ กัน ไม่กระจุกตัวอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง


สรุปเรื่อง ตุ่ม PPE หนึ่งในสัญญาณเมื่อร่างกายติดเชื้อ HIV

ตุ่ม PPE เป็นผื่นคันที่พบได้ในผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า แขน ขา คอ ศีรษะ ลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง มีอาการคัน มักเกิดหลายตุ่ม และกระจายเป็นกลุ่ม โดยการเกิดตุ่ม PPE เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่าระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเชื้อ HIV กำลังแพร่กระจาย ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองมีตุ่ม PPE ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน 

สำหรับใครที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตุ่ม PPE หรือเรื่องสุขภาพอื่น ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการป้องกันอย่างการฉีดวัคซีน HPV ไปจนถึงการรักษาโรคต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ซึ่งมีทีมแพทย์เฉพาะทางและพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถติดต่อผ่าน Line : @samitivejchinatown หรือโทร 02-118-7893


References
 

Pruritic Papular Eruption (PPE) of HIV. (2019, January 20). Infectious Disease Advisor. https://www.infectiousdiseaseadvisor.com/home/decision-support-in-medicine/infectious-diseases/pruritic-papular-eruption-ppe-of-hiv/

Tallon, B. (n.d.). Pruritic papular eruption of HIV. Dermnetnz. https://dermnetnz.org/topics/pruritic-papular-eruption-of-hiv

Papular pruritic eruption of HIV. (n.d.). visualdx. https://www.visualdx.com/visualdx/diagnosis/papular+pruritic+eruption+of+hiv?diagnosisId=53746&moduleId=101

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​