บทความสุขภาพ

10 อาการเตือนโรคหัวใจ โรคหัวใจมีกี่แบบ แบบไหนควรรีบพบแพทย์?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

โรคหัวใจเป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจผิดปกติไป ซึ่งโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยออกเป็นหลายแบบด้วยกัน เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น โดยโรคหัวใจนี้ถือเป็นโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ในอดีตพบว่าโรคหัวใจมักเกิดในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นหนุ่มสาวมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ในบทความนี้จะมาทำความรู้จักกับโรคหัวใจแบบละเอียด และ 10 อาการโรคหัวใจ เพื่อเสริมเป็นความรู้ และให้ข้อมูลในการตัดสินใจเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจ


สารบัญบทความ

 


โรคหัวใจ (Heart Disease)

โรคหัวใจ (Heart Disease) เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งโรคหัวใจนี้สามารถแบ่งย่อยออกมาได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย โดยมีจำนวนมากถึงปีละ 7 หมื่นราย และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย ซึ่งสาเหตุโรคหัวใจมักมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ เพศ ครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด เป็นต้น ทั้งนี้เราสามารถป้องกันโรคหัวใจด้วยการปรับพฤติกรรมเสี่ยง รวมถึงเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ


สาเหตุของโรคหัวใจ

สาเหตุโรคหัวใจนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายประเด็น ไม่มีสาเหตุที่ตายตัวแน่นอน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่สามารถบ่งบอกได้ว่าน่าจะมีสิทธิ์เป็นโรคหัวใจได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจในประเภทที่ต่างกันออกไป เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น ประวัติครอบครัว เพศ ขาดการออกกำลังกาย และการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น


ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้
 

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุขึ้น 40 แต่ในปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนอายุ 30-40 ปี การมีอายุมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
  • เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง แต่สำหรับผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังหมดประจำเดือน
  • ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย (ผู้ชายก่อนอายุ 55 ปี และผู้หญิงก่อนอายุ 65 ปี)
     

ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
 

  • ระดับไขมันในเลือดสูง หรือโคเลสเตอรอลสูง โดยโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบหลักของไขมันที่มักสะสมในหลอดเลือดหัวใจ หากมีระดับโคเลสเตอรอลสูงมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการรับประทานอาหาร เลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เป็นต้น ในผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ 
     

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณค่า BMI ได้ที่: วิธีคํานวณค่า BMI สูตรคำนวณดัชนีมวลกาย บอกอะไรได้บ้าง
 

  • เบาหวาน คือความผิดปกติที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุเกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ หรืออาจเกิดจากร่างกายต่อต้านอินซูลินที่มีอยู่ การที่ร่างกายมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจเป็นสาเหตุของการทำลายผนังภายในของหลอดเลือดได้
  • ความดันโลหิตสูง สามารถกระตุ้นให้กระบวนการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดเกิดได้เร็วขึ้น รวมถึงยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นด้วย ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือภาวะสมองขาดเลือด
  • การสูบบุหรี่ สาเหตุหลักของมะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ และถุงลมโป่งพอง คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงหัวใจวายอย่างมาก และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหัน 
  • การใช้ชีวิตประจำวัน (Lifestyle) หากในชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ การออกกำลังกายจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

10 อาการเตือนโรคหัวใจที่ควรพบแพทย์

อาการโรคหัวใจนั้นเป็นเพียงแค่สัญญาณที่บ่งบอกให้ทราบถึงสุขภาพร่างกาย การจะรู้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่านั้น จะต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ควบคู่กันไปด้วย สำหรับ 10 อาการเตือนโรคหัวใจที่ควรพบแพทย์ มีดังนี้
 

  1. เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ร้าวไปที่กราม แขน ไหล่ หรือลิ้นปี่
  2. เหนื่อยง่าย 
  3. หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม
  4. หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ
  5. ใจสั่น
  6. วิงเวียนศีรษะ
  7. บวมตามแขน ขา เท้า
  8. นอนราบไม่ได้
  9. อ่อนเพลีย
  10. ไอเรื้อรังแห้ง ๆ 

หากพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคหัวใจให้เร็วที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่ามีปัญหาโรคหัวใจหรือไม่ และวางแผนการรักษาต่อไป


โรคหัวใจมีอะไรบ้าง

 

1. โรคหลอดเลือดหัวใจ 

โรคหลอดเลือดหัวใจมักมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงสูบบุหรี่จัด ทำให้มีการตีบตันในหลอดเลือดและเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ พบบ่อยในผู้ใหญ่ มีอาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือเจ็บแน่นหน้าอก อึดอัด เหมือนมีสิ่งกดทับกลางอก เหนื่อยง่ายหายใจถี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น โรคหลอดเลือดหัวใจนี้อาจเป็นแบบฉับพลันจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ (Heart Attack) ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม


2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) มักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด หลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น หรือเกิดจากสุขภาพร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โดยอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สังเกตได้ง่ายคือ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมออาจเต้นเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการตรวจไขมันในเลือดเพื่อหาสาเหตุอาการที่แท้จริง


3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
 

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Cardiomyopathy) เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ สาเหตุที่พบบ่อยมาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตายกล้ามเนื้อหัวใจก็บีบตัวลดลง ความดันในห้องหัวใจก็สูงขึ้นทำให้ห้องหัวใจโต หรือเป็นโรคหัวใจโต โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัด แต่ก็มีบางรายที่ผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำท่วมปอด
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวลดลง ส่งผลให้การส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ลดลงตามไปด้วย และยังมีผลทำให้การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ เกิดเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีอาการที่สังเกตได้คือ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ขาบวมเท้าบวม ใจสั่น ใจเต้นเร็ว รวมถึงใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome: ACS) หรือที่เรียกกันว่า อาการหัวใจวาย โดยสัญญาณเตือนโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันคือ มีอาการเจ็บหน้าอก (Chest Pain) ทั้งแบบทันทีหรือเจ็บเป็น ๆ หาย ๆ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ แน่นหน้าอก จุกเสียดลิ้นปี่ เป็นต้น 


4. โรคลิ้นหัวใจ

 

  • โรคลิ้นหัวใจตีบ คือภาวะที่ลิ้นหัวใจเปิดและปิดได้ไม่สุด จึงทำให้เลือดไหลออกจากห้องหัวใจยากขึ้น ทำให้เกิดความดันและปริมาณเลือดสะสมย้อนกลับสู่ห้องหัวใจและหลอดเลือด อาการของโรคลิ้นหัวใจตีบ เช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขาบวมเท้าบวม เป็นต้น
  • โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) คือภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่วหรือขาด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือดในหัวใจลดลง มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากความผิดปกติของหัวใจที่มีความบกพร่องมาตั้งแต่กำเนิด เช่น โครงสร้างของลิ้นหัวใจผิดปกติ หรืออาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดตีบตัน ส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติได้ โดยอาการโรคหัวใจที่พบได้บ่อยคือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก นอนราบไม่ได้ เท้าบวมขาบวม เป็นต้น ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคลิ้นหัวใจตีบ


5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) คือความผิดปกติของการพัฒนาการโครงสร้างหัวใจตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจพิการคือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม มารดาได้รับยาบางอย่างในช่วงก่อน หรือระหว่างการตั้งครรภ์ และการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้องของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด 

โดยอาการที่อาจสงสัยว่าเด็กเป็นโรคหัวใจพิการ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ดื่มนมน้อย โตช้า เล็บสีม่วงคล้ำ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก หากสังเกตพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง


6. โรคหัวใจที่เกิดจากการติดเชื้อ

โรคหัวใจที่เกิดจากการติดเชื้อ (Heart Infection) ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นหัวใจ ซึ่งการอักเสบนี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดในห้องต่าง ๆ ของหัวใจผิดปกติ ซึ่งมีอาการโรคหัวใจสำคัญ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย หน้าซีด ซูบผอม หากอาการรุนแรงขึ้นอาจมีภาวะหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก หรือไตวายร่วมด้วย 


ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหัวใจ

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหัวใจ มีดังนี้
 

  • หัวใจวาย หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจ เกิดจากมีการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลันและมีการขัดขวางการไหลของเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ เมื่อหัวใจขาดเลือดก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะความผิดปกติของการทำงานของหัวใจที่ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ รวมถึงไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง โดยมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ ไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า 
  • โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aortic Aneurysm) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจที่รุนแรง สามารถเกิดได้ทุกที่ในร่างกาย หากหลอดเลือดโป่งพองแตกจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกภายในอย่างรวดเร็ว และเกิดอันตรายต่อชีวิตได้

ตรวจหัวใจเพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่เราจำเป็นต้องให้ความใส่ใจและให้การดูแล การตรวจหัวใจจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ดี ที่จะช่วยประเมินสุขภาพความแข็งแรงของหัวใจ รวมไปถึงตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจของเรา โดยปกติแล้วโรคหัวใจมักมีอาการ หรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เหนื่อยง่าย เป็นต้น แต่ในบางบุคคลก็อาจไม่มีสัญญาณเตือนเกิดขึ้นเลย ดังนั้นการเข้ารับการตรวจโรคหัวใจจะช่วยคัดกรองความเสี่ยงได้ 


ใครที่ควรเข้าตรวจโรคหัวใจ

กลุ่มคนที่ควรเข้ารับการตรวจโรคหัวใจมีดังนี้
 

  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มีระดับไขมันสูง เป็นต้น
  • มีสัญญาณเตือนจากอาการที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายผิดปกติ ใจสั่น หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจหัวใจเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
  • นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องใช้พละกำลังในการแข่งขัน เพื่อประเมินอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม
  • กลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจมีอะไรบ้าง

การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุโรคหัวใจเบื้องต้นจะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อช่วยให้ระบุได้ว่าเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จะใช้การทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ ดังนี้ 


1. การตรวจโรคหัวใจจากเลือด

การตรวจเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจ (High-Sensitivity C-reactive protein: hs-CRP) เป็นการตรวจเพื่อบอกถึงค่าความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โดยการตรวจหาระดับโปรตีน C-reactive Protein ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในเลือด หากเซลล์อักเสบอย่างต่อเนื่อง ระดับ CRP ก็จะสูงตาม ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ 


2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

การตรวจคัดกรองโรคหัวใจด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG (Electrocardiogram) เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่า การทำงานของหัวใจยังสม่ำเสมอหรือไม่ และสามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลกับการทำงานของหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG อาจไม่พบเจอโรคหากไม่มีอาการ อาจจะต้องพึ่งการตรวจด้วยรูปแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) เป็นต้น


3. การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST)

การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คล้ายกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยจะใช้แผ่นตะกั่วชุดหนึ่งแปะติดกับหน้าอก และมีการบันทึกขณะที่ออกกำลังกาย เช่น การเดินบนสายพาน หรือขี่จักรยานอยู่กับที่ โดยการทดสอบนี้ใช้วัดค่าการตอบสนองของหัวใจ เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าในร่างกาย จำนวนเลือดที่ไหลไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย


4. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นวิธีที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อจับภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจ โดยจะศึกษาภาพเพื่อวัดและระบุถึงการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ


5. การตรวจหัวใจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

การตรวจหัวใจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography หรือ CT Scan) เป็นวิธีการตรวจหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดของหัวใจว่า หัวใจมีความผิดปกติอื่น ๆ ของหลอดเลือดหัวใจบ้างหรือไม่ หลอดเลือดหัวใจตีบ-ตันหรือไม่ รวมถึงใช้เพื่อติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย


6. การสวนหลอดเลือดหัวใจ (CAG)

การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Angiography: CAG) คือการฉีดสารทึบรังสีเพื่อ X-ray ดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ หรือที่เรียกกันว่าฉีดสีหัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่า หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ-ตันหรือไม่ รวมถึงตรวจดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ การเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจ และสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่าง ๆ ของหัวใจได้ หากพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน แพทย์สามารถรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจได้ทันที
 

                                                                  


แนวทางการรักษาโรคหัวใจ

โรคหัวใจรักษาหายไหม? โรคหัวใจหากว่าตรวจคัดกรอง หรือตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาจะได้ผลดีตามลำดับ การรักษาโรคหัวใจตามปกติแล้วจะรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ และรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็นขณะนั้น เช่น การผ่าตัดหัวใจ หรือทำหัตถการต่าง ๆ ร่วมกับการทานยารักษาโรคหัวใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ได้แก่
 

  • รับประทานอาหารสุขภาพ ผักผลไม้ เช่น ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารจำพวกไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล เพื่อช่วยลดการเกิดไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การไม่เคลื่อนไหวร่างกายสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
  • งดสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ และถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายมากกว่าคนปกติ และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหัน
     

2. การทานยารักษาโรคหัวใจ

ยารักษาโรคหัวใจ (Cardiac medication) คือยาที่ใช้บรรเทาอาการต่าง ๆ ของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดปกติ ป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นต้น เนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคไม่หายขาด จึงจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอ 


3. การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจ

การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ ดังนี้
 

  • การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open Heart Surgery) 

โดยทั่วไปหมายถึงการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมช่วยในการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีรูรั่วภายในหัวใจ ซึ่งวิธีการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดนี้จะมีแผลขนาดใหญ่ ถือว่าเป็นการผ่าตัดมาตรฐาน สามารถผ่าตัดโรคหัวใจได้ทุกชนิด แต่มีข้อจำกัดคือ อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังผ่าตัดได้ แต่ในปัจจุบันบางครั้งการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงและเจ็บปวดน้อยน้อยลง รวมถึงแผลผ่าตัดก็เล็กลง
 

  • การผ่าตัดหัวใจแบบปิด (Closed Heart Surgery)

การผ่าตัดหัวใจแบบปิดคือ การผ่าตัดโดยที่ไม่เปิดหัวใจ แต่ยังต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก ไม่ต้องใช้ปอดหัวใจเทียมช่วยระหว่างการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจโดยที่ไม่ได้เข้าไปผ่าตัดภายในหัวใจ


ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโรคหัวใจ

ข้อปฏิบัติตัวเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ มีดังนี้
 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง การควบคุมอาหารประเภทไขมัน จะช่วยลดและชะลอการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจได้
  • เน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เนื่องจากจะช่วยลดการดูดซึมไขมัน รวมถึงยังช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่อีกด้วย
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้ค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 - 24.9 กก./ม2
  • งดการสูบบุหรี่และลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ทำจิตใจให้ร่าเริง ลดความเครียด
  • ขยับร่างกายให้หัวใจแข็งแรง เช่น ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น แต่ไม่ควรหักโหมมากจนเกินไป โดยออกต่อเนื่องกันประมาณ 30 นาที
  • เข้ารับติดตามผลการรักษาโรคหัวใจ หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพตนเองอยู่เสมอ

การป้องกันโรคหัวใจ ทำอย่างไร

แนวทางการป้องกันตนเอง และช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ มีดังต่อไปนี้
 

  • ผ่อนคลายความเครียด 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • งดการสูบบุหรี่
  • ควบคุมความดันโลหิต
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ

ข้อสรุป

โรคหัวใจเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย แม้ว่าจะเป็นโรคที่รุนแรงและทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ แต่เราก็สามารถป้องกัน รวมถึงรักษาได้หากตรวจพบเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพกายและจิตใจของตนเองให้ดีอยู่เสมอ รวมถึงเข้ารับตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจ

ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจในระดับมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจ วินิจฉัย และผ่าตัด รวมทั้งให้การบำบัดและฟื้นฟูหัวใจครบทุกสาขา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ line@samitivejchinatown Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


References

Felman A. (2021, July 21). Everything you need to know about heart disease. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/237191

Heart disease. (n.d). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/symptoms-causes/syc-20353118

Heart Disease: Types, Causes, and Symptoms. (2021, June 14). Web Md. https://www.webmd.com/heart-disease/heart-disease-types-causes-symptoms


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​