โรคลิ้นหัวใจรั่ว รู้ทัน...ซ่อมได้
โรคลิ้นหัวใจรั่ว รู้ทัน...ซ่อมได้
หลายคนคงจะทราบกันมาบ้างแล้วว่าโรคอันตรายที่พรากชีวิตชาวไทยเป็นอันดับหนึ่งคือโรคมะเร็ง แต่ยังมีอีกโรคอันตรายที่พรากชีวิตไปมากไม่แพ้กับโรคมะเร็งเลยก็คือ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเส้นเลือดหัวใจตีบ” นั่นเอง แถมยังอันตรายกว่าหากเป็นแบบเฉียบพลัน เมื่อเกิดอาการขึ้นส่วนใหญ่มักเสียชีวิตโดยที่ไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย
แต่อย่างไรก็ตามโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอาจไม่ได้เป็นอันตรายดังที่กล่าวไปหากหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ถ้าตรวจพบอาการผิดปกติและมีแนวโน้มที่จะเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันก็จะได้สามารถวางแผนการรักษาได้เร็วที่สุด ลดโอกาสที่จะเกิดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบตันจนเสียชีวิตได้
สารบัญบทความ
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease: CAD หรือ Coronary heart disease: CHD) เป็นโรคอันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึงอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง และมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้นสามารถเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปและแบบเฉียบพลัน เมื่อเกิดการตีบตันของเส้นเลือดขึ้นมักจะตามมาด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตายอันเนื่องมาจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนผ่านส่วนที่เกิดการตีบตันได้นั่นเอง
โรคหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือการที่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจมีสิ่งแปลกปลอมไปกีดขวางทางไหลเวียนเลือด ไม่ว่าจะเป็นไขมัน คอลเรสเตอรอล หินปูนที่ไปพอกสะสมอยู่ที่ผนังเส้นเลือดหัวใจ หรือเกิดจากเกล็ดเลือดหรือลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ ทั้งหมดนี้มักจะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังส่วนอื่น ๆ ของหัวใจได้เป็นปกติ
และอีกสาเหตุที่พบได้บ้างในผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบคือการที่เส้นเลือดหัวใจแข็งตัว หลอดเลือดหัวใจเปราะ ไม่แข็งแรง เสื่อมสภาพ เมื่อหัวใจทำงานหนัก เกิดแรงดันของเลือดมาก ๆ ก็มีโอกาสที่เส้นเลือดหัวใจจะทนแรงดันของเลือดไม่ไหวจนปริแตกได้เช่นกัน
สิ่งที่ตามมาจากเส้นเลือดหัวใจตีบตันจนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้มักจะนำมาสู่อาการหัวใจขาดเลือดหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตสูงขึ้น
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบันนับว่าเป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ว่าจะใครก็มีโอกาสเป็นได้ หากทราบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อนก็สามารถทำให้เราระมัดระวังตัว และคอยดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม
“โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน” เป็นโรคหนึ่งที่มีอาการแบบฉุกเฉิน และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทําให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันของคนไทย อาการเส้นเลือดหัวใจตีบสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
ในช่วงแรกที่สิ่งแปลกปลอมอย่างไขมัน คอลเลสเตอรอล หรือหินปูนในเลือดเริ่มไปเกาะอยู่ที่ผนังเส้นเลือดหัวใจจะไม่ได้เกาะเป็นก้อนใหญ่ทีเดียว แต่จะค่อย ๆ เกิดการพอกทับอยู่ภายในเส้นเลือดหัวใจไปเรื่อย ๆ โดยมักจะใช้เวลากว่า 7- 10 ปี ในช่วงที่การพอกเกาะของสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ยังไม่มาก การไหลเวียนของเลือดยังสามารถไหลเวียนได้ค่อนข้างปกติ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการแต่อย่างใด
แต่เมื่อการเกาะตัวของสิ่งแปลกปลอมนี้เริ่มมากขึ้นจนทำให้ทางเดินของเลือดลดลงกว่า 50% ผู้ป่วยจึงจะเริ่มมีอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น เหนื่อยง่ายกว่าเดิมเมื่อออกแรง เจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับหน้าอก อาจพบอาการปวดร้าวขึ้นมายังคอ กราม หรือไหล่ด้านซ้าย อาจมีอาการเพลียอ่อนแรง ใจสั่น เหงื่อออกตัวเย็นร่วมด้วย และหากมีการเกาะตัวของสิ่งแปลกปลอมมากกว่า 75% ถึงแม้จะอยู่เฉย ๆ ก็สามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้
สิ่งที่อันตรายมาก ๆ สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบคือการที่เกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน เพราะเป็นอาการที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลารวดเร็ว
เส้นเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลันมักจะเกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ ผู้ป่วยที่เกิดอาการนี้มักจะเกิดจากการที่เส้นเลือดหัวใจเกิดฉีกขาดหรือแตกขึ้นกะทันหัน ตามกลไกของร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลมากจึงมีการส่งเกล็ดเลือดมายังบริเวณที่เกิดการฉีกขาดเพื่อซ่อมแซม อุดรอยรั่ว
แต่เพราะเช่นนั้นจึงมีโอกาสที่เกล็ดเลือดจะไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจจนตีบ กีดขวางทางเดินเลือดไปด้วย และการที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้เป็นปกติส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจและส่วนอื่น ๆ ไม่พอ จนทำให้หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจหยุดเต้น ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
อาการเส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลันควรจะต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพราะการที่เส้นเลือดหัวใจตีบตันอย่างฉับพลันจะค่อย ๆ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายลงเรื่อย ๆ และมักจะเสียชีวิตลงในระยะเวลาไม่กี่ขั่วโมง ในช่วงโกลเด้นไทม์ที่สามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้คือไม่เกิน 4-6 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ ดังนั้นยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น และสามารถรักษาให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ดีขึ้น
“โดยปกติแล้ว หากผู้ป่วยถึงมือแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ และทําการรักษาภายใน 6 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ จะยังมีโอกาสในการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เพราะฉะนั้น ยิ่งได้รับการรักษาเร็วมากเท่าไหร่ ก็หมายถึงโอกาสที่กล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทําลายน้อย ลงเท่านั้น”
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีความรุนแรงถึงชีวิต โดยเฉพาะหากเป็นกลุ่มหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน โอกาสเสียชีวิตสูงมากหากได้รับการรักษาไม่ทันเวลาโกลเด้นไทม์ 4-6 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ
แต่สำหรับหลอดเลือดหัวใจตีบตันอย่างค่อยเป็นค่อยไปใช่ว่าจะไม่อันตราย หากทราบว่าตนเองเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันช้าหรือปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม มักทำให้การเกาะตัวของสิ่งแปลกปลอมบนผนังเส้นเลือดมากขึ้นเรื่อย ๆ และไปขวางทางเดินเลือดทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนมาเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอและเกิดอาการเส้นเลือดตีบแตกขึ้นได้ ซึ่งนั่นเป็นอันตรายถึงชีวิต
เมื่อผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการเสี่ยงที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์อาจส่งตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษเพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัย ดังนี้
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) เป็นวิธีการตรวจหัวใจรูปแบบหนึ่งโดยอาศัยการตรวจจับคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหัวใจ ผลการตรวจจะแสดงอยู่ในรูปแบบเส้นกราฟ ซึ่งเส้นกราฟสามารถแสดงถึงอัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ ขนาดหัวใจและห้องในหัวใจได้
ปกติแล้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคนสุขภาพดีไม่เป็นโรคหัวใจเส้นกราฟจะมีความสม่ำเสมอกันทุกจังหวะ แต่หากผลออกมาแล้วพบว่าเส้นกราฟไม่สม่ำเสมอกัน อาจบอกได้ว่าหัวใจมีความผิดปกติหรือเกิดการบาดเจ็บขึ้น เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดหัวใจตีบตัน และโรคหัวใจอื่น ๆ
การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test: EST) เป็นวิธีตรวจหัวใจโดยการดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจเช่นเดียวกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ เพียงแต่การตรวจ EST นั้นจะใช้ตรวจหาความผิดปกติของหัวใจที่อาจตรวจไม่พบนขณะที่ร่างกายไม่ได้ออกแรงหรือออกกำลังกาย
ลักษณะการตรวจ EST นั้นผู้ป่วยจะต้องวิ่งอยู่บนสายพาน พร้อมกับติดแผ่นอิเล็กโทรดตามจุดต่าง ๆ บนร่างกาย ขณะออกกำลังเครื่องก็จะตรวจจับคลื่นไฟฟ้าและแสดงผลออกมาในรูปแบบเส้นกราฟ
การตรวจ EST นั้นมักจะใช้ตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และอาจผ่านการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการตรวจลักษณะภายในของหัวใจโดยการส่งคลื่นความถี่สูงผ่านเข้าไปที่หัวใจ จากนั้นจะเกิดคลื่นสะท้อนกลับ ผลการตรวจจะออกมาในรูปแบบโครงสร้างภายในหัวใจ การตรวจ Echocardiogram ทำให้เห็นภาพภายในของหัวใจไม่ว่าจะเป็นความหนาของเนื้อเยื่อหัวใจ รูปร่างหัวใจ ขนาดของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
การตรวจเอกซเรย์หัวใจ (CT Calcium Scoring) เป็นวิธีการตรวจหาระดับแคลเซียมหรือหินปูนที่อยู่ภายในหลอดเลือดหัวใจ สามารถดูการสะสมของแคลเซียมหรือหินปูนตามผนังหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นวิธีที่ใช้ประเมินโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจากการเกาะตัวของหินปูนหรือแคลเซียมได้แม่นยำ
การฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจใช้ตรวจการตีบตันของเส้นเลือด โดยแพทย์จะสามารถเห็นภาพเลือดขณะไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้เลย ขั้นตอนการตรวจจะมีการฉีดสารละลายรังสีนี้ผ่านเข้าไปที่หลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือที่ข้อมือ สารละลายรังสีที่ฉีดเข้าไปจะไหลเวียนตามระบบเลือดปกติ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันก็จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน
หลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาได้ตามความรุนแรงของการตีบตันภายในเส้นเลือดหัวใจ โดยวิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถแบ่งได้เป็น 3 วิธี ดังนี้
หากผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจากการที่มีลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ในเบื้องต้นสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาละลายลิ่มเลือด โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ช่วยละลายลิ่มเลือด การเกาะตัวของเม็ดเลือดทั่วร่างกาย รวมถึงบริเวณที่เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย หากการอุดตันไม่รุนแรงการรับประทานยาละลายลิ่มเลือดก็สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา
นอกจากนี้หากการอุดตันในเส้นเลือดหัวใจไม่ได้เกิดจากลิ่มเลือดแต่จากสาเหตุอื่น เช่น เกิดจากไขมัน คอลเลสเตอรอล ก็อาจรับประทานยาขยายหลอดเลือดควบคู่กับการควบคุมอาหารและน้ำหนัก
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจําเป็นต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงคือ ทําให้เลือดหยุดยาก มีผลต่อการตั้งครรภ์ ผู้ ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร การทําฟัน ถือเป็นยาอันตรายที่ต้องรับประทานตามการ วินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น
หากหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากกว่า 75% หรือผ่านการรักษาด้วยการรับประทานยาแล้วไม่สามารถควบคุมอาการได้ แพทย์จะพิจารณาการทําบอลลูนหรือใส่ขดลวด โดยแพทย์จะทําการสอดอุปกรณ์ถ่างหลอดเลือดเข้าไปบริเวณจุดที่ต้องการ เพื่อขยายหลอดเลือดผ่านทางเส้นเลือดบริเวณโคนขาหรือข้อมือ ทําให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกและเลือดสามารถไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้งหนึ่ง
โดยปัจจุบันชนิดของขดลวด ได้แก่ ขดลวดชนิดไม่เคลือบยา (Bare Metal Stent) ขดลวดชนิดเคลือบยา (Drug Eluting Stent) และขดลวดโครงค้ำยันหลอดเลือดชีวภาพเคลือบยาชนิดย่อยสลายได้ (Bioabsorbable Stent) ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไปจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของหลอดเลือด
หากการรักษาด้วยยาไม่สามารถลดอาการตีบตันได้ และแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการทำบอลลูนได้ หรือมีการตีบตันของเส้นเลือดหลายเส้น วิธีการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบขั้นสุดท้ายคือการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ
โดยการผ่าตัดทำบายพาสจะทำทางเดินของเลือดขึ้นมาใหม่ โดยนำเส้นเลือดดำบริเวณขาหรือในทรวงอกที่สภาพดีมาทำเส้นทางเบี่ยงข้ามเส้นเลือดที่ตีบไป ให้เลือดได้ไหลเวียนได้สะดวกขึ้นผ่านเส้นเลือดใหม่ทดแทนเส้นเลือดเดิมที่ตีบตันไป
เมื่อผู้ป่วยมีอาการเสี่ยงและตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรจะต้องปฏิบัติตนเพื่อประคับประคองอาการและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงขึ้น ดังนี้
การรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นสำคัญอย่างมาก โดยอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยจะเป็นอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย อาหารที่มีกากใยมากและไขมันต่ำ
ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ก็ตาม ก็สามารถปฏิบัติตนตามแนวทางนี้เพื่อป้องกันตนเองจากโรคหลอดหัวใจตีบได้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคอันตรายที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีก็อาจเพิ่มโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และหากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็ควรเข้ารับการตรวจหัวใจอย่างละเอียด หากตรวจพบโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็จะสามารถรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมโดยเร็วที่สุด
หากคุณมีความกังวลใจหรือมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สามารถเข้ารับการตรวจหัวใจได้ที่สมิติเวชไชน่าทาวน์ สามารถติดต่อได้ทางไลน์ line@samitivejchinatown หรือ Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy)