บทความสุขภาพ

โรคลิ้นหัวใจรั่ว รู้ทัน...ซ่อมได้

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



หัวใจ” นับเป็นอวัยวะสําคัญที่สุดในร่างกาย ซึ่งมีภารกิจหลักในการสูบฉีดเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ โดยมีลิ้นหัวใจทําหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดให้เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้อง นั่นคือไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับผิดทางเมื่อมีการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งหากลิ้นหัวใจเกิดการเสื่อมสภาพ ชํารุดเสียหาย หรือมีโรคของลิ้นหัวใจที่ทําให้การทํางานไม่เป็นปกติ ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทํางานเพิ่มมากขึ้น จนเกิดภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจโต เลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด และอาจรุนแรงถึงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อันเป็นสาเหตุของเสียชีวิตได้ในที่สุด

หน้าที่ของลิ้นหัวใจ

“ในระบบหลอดเลือดของคนเรา จะมีหัวใจเป็นศูนย์กลาง ทําหน้าที่เหมือนปั้มน้ำ มีหลอดเลือดเสมือนเป็นท่อน้ำเลี้ยง และลิ้นหัวใจทําหน้าที่เป็นวาล์วเปิดปิดให้เลือดนั้นไหลเวียนไปในทิศทางเดียว เพื่อให้ร่างกายได้รับเลือดครบทุกส่วนและมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อใดก็ตามที่ความผิดปกติของวาล์วตัวนี้เกิดขึ้น คือไม่สามารถเปิดให้น้ำไหลได้อย่างเต็มที่ และปิดได้ไม่สนิท หรือมีรูรั่ว ก็จะทําให้หัวใจต้องทํางานหนักขึ้นเพื่อชดเชยประสิทธิภาพที่เสื่อมถอยลง ซึ่งหากข้อบกพร่องนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะนําไปสู่ภาวะลิ้นหัวใจตีบและรั่วได้”

สาเหตุความผิดปกติของลิ้นหัวใจ

สามารถแบ่งได้ 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. ความพิการของลิ้นหัวใจแต่กําเนิด (Congenital Valve Disease) เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่แรกคลอดและมักต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  2. โรคลิ้นหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease) เป็นโรคลิ้นหัวใจผิดปกติชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ทําให้เกิดไข้รูมาติกซึ่งมีผลทําลายลิ้นหัวใจของผู้ป่วยในระยะยาว ส่วนมากจะเริ่มอาการแสดงความผิดปกติของหัวใจ 5-10 ปี หลังจากเป็นไข้รูมาติก
  3. โรคลิ้นหัวใจผิดปกติจากการเสื่อมสภาพ (Degenerative Valve Disease) ที่มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ อันมีสาเหตุจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจ
  4. โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective Endocarditis) เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) และตัวเชื้อโรคไปเกาะกินที่ลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเฉียบพลันและหัวใจวายรุนแรงรวดเร็วมาก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการมีพฤติกรรมเสี่ยงและมีโรคที่นําไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือด หัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคไขมัน ในเลือดสูง และโรคอ้วน เป็นต้น


สัญญาณเตือนของโรคลิ้นหัวใจรั่ว

กลไกลของอาการจะมาจากการที่เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ หรือปั้มออกไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่สมดุลกับสิ่งที่เข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อลิ้นทางขวาเริ่มเสื่อมสภาพ ประสิทธิภาพในการทํางานของอวัยวะฝั่งนั้นก็จะลดลง จะมีอาการขาบวม ท้องอืด ตับโต หัวใจทางขวาบวม คอโป่ง หน้าบวม ขณะที่ทางซ้าย การทํางานของฝั่งนี้คือการนําออกซิเจนจากหัวใจห้องขวาสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งส่วนนี้สําคัญมาก หากขาดจะมีปัญหา อาการที่สังเกตได้ คือ จะเหนื่อยเร็วขึ้น สมมติเคยเดินหรือวิ่งได้ 1 ชั่วโมง สบายๆ ก็จะเหนื่อยเร็วกกว่าปกติที่เคยเป็น หรือถ้าแค่อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย อันนี้แย่แล้ว แต่ถ้าทั้งบวม ทั้งเหนื่อย หรือมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวที่ทําให้นอนราบไม่ได้ เหนื่อยมาก หายใจลําบาก แสดงว่าปั้มของเราจําเป็นต้อง เปลี่ยนแล้ว

การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว

 

  1. การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม (Valve Replacement)


การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถทําได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเพื่อทดแทนลิ้นเดิม ด้วยลิ้นที่เป็นโลหะหรือจากเยื่อหุ้มหัวใจหมูหรือวัว ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาที่ดีมาก และผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยมีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี แต่ผู้ป่วยจําเป็นต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น ไม่สามารถตั้งครรภ์หรือมีลูกได้ เป็นต้น
 

  1. การซ่อมลิ้นหัวใจ (Valve Repair)


นอกจากการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมแล้ว ปัจจุบันมีอีกหนึ่ง ทางเลือกที่สามารถรักษาโรคดังกล่าวและให้ผลการรักษาที่น่าพอใจ นั่นคือการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ซึ่งเป็นการตบแต่งส่วนที่ผิดปกติของลิ้นหัวใจ โดยการลอกหินปูนที่จับตัวออก และนําเยื่อหุ้มหัวใจของผู้ป่วยมาซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ทําให้ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกาย การผ่าตัดขยายลิ้นหัวใจที่ตีบให้เปิดกว้างได้อย่างปกติ การซ่อมแซมส่วนที่รั่วของลิ้นหรือปิดไม่สนิทเพื่อช่วยให้ลิ้นหัวใจปิดได้สนิท ตลอดจนการเย็บบริเวณขอบลิ้นด้วยวิธีการดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตด้วยหัวใจที่แข็งแรงหลังผ่าตัดแล้ว ยังทำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงเดิม โดยไม่จําเป็นต้องทานยาเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด แพทย์ยังสามารถประเมินผลการรักษาล่วงหน้าได้อย่างแม่นยํา ใช้วิธีการผ่าตัดที่ทําให้เกิดแผลขนาดเล็กมาก มีความเจ็บปวดน้อย และสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว
 

สําหรับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจนั้น เราจะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของโรค ความพร้อมของร่างกาย ขณะที่อายุก็สามารถทําได้ทุกช่วงวัย แม้คนไข้ที่มีอายุมากถึง 80 แต่มีร่างกายที่แข็งแรงก็สามารถผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวได้ โดยคนไข้ที่ได้รับการซ่อมลิ้นหัวใจแล้วผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ก็จะสามารถใช้งานได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 10-20 ปีแรก และหากมีความเสื่อมเกิดขึ้นอีก ยิ่งในวัยหนุ่มสาว การผ่าซ้ำก็มักไม่อันตรายและมีเปอร์เซ็นต์ที่จะสําเร็จสูง โดยหลังการรักษา คนไข้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่โลดโผน เพราะหัวใจที่เจอสภาพลิ้นเสียหาย อย่างไรก็ต้องมีสภาพบอบช้ำและทํางานหนักกว่าปกติ การทานเค็มยิ่งเป็นสิ่งต้องห้าม ควรงดให้ได้เพื่อป้องกันการบวมและลดความดันโลหิต พยายามทานอาหารรสชาติจืดๆ รักษาและควบคุมโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน รวมถึงการออกกําลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ที่สําคัญคือการตรวจสุขภาพเป็นประจําทุกปี เมื่อพบรอยโรคจะได้รักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อชะลอโรคและไม่ให้ลิ้นหัวใจ เสื่อมเร็วกว่าที่ควรนั่นเอง

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​