บทความสุขภาพ

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG คืออะไร เพราะเหตุใดจึงต้องตรวจ

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
 

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG คืออะไร? พอพูดถึงเรื่องการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจฟังดูน่ากลัวเนื่องจากเป็นการตรวจที่เกี่ยวกับหัวใจ บางคนได้ยินแล้วอาจจะกลัวเจ็บ แต่ว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือที่เรียกกันว่า EKG เป็นการตรวจที่รวดเร็วและมีประโยชน์มาก ผลการตรวจใช้วินิจฉัยโรคอื่นๆที่อาจแอบแฝงอยู่ได้ และ สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัยไม่ต้องกลัวเจ็บเพราะเป็นการนำสื่อไฟฟ้ามาแปะบนร่างกายเพื่อจับจังหวะการเต้นของหัวใจเท่านั้น ผู้เข้ารับการตรวจจะไม่รู้สึกอะไรเลย
 


สารบัญบทความ

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG คืออะไร

• ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถบอกอะไรได้บ้าง

• ข้อดีของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

• ใครที่ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

• การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

• ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

• การวินิจฉัยผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

• การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับวิธีอื่น

• ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST: Exercise Stress Test)

• ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram : ECHO)

• ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์

• FAQs การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

• ข้อสรุป

 


ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG คืออะไร

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือที่เรียกกันว่า EKG คือ การตรวจการทำงานของคลื่นกระแสไฟฟ้าบริเวณหัวใจ ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ รวมไปจนถึงการควบคุมระบบการลำเลียงและการสูบฉีดเลือดของหัวใจทั้ง 4 ห้อง ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ส่วนใดหรือไม่

โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะติดจุดรับกระแสไฟฟ้าที่บนร่างกายของผู้รับบริการ เมื่อกระแสไฟฟ้ามีการรับ-ส่งกันเกิดขึ้น จะถูกแปลงสัญญาณและแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจกับจังหวะการเต้นของหัวใจออกมาในรูปแบบเส้นกราฟ 

เส้นกราฟหัวใจเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมากในการตรวจจับความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งการค้นหาสาเหตุบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย วิงเวียนศีรษะบ่อยๆ เป็นต้น ซึ่งการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และไม่เจ็บปวด ทุกเพศทุกวัยจึงสามารถเข้ารับการตรวจได้อย่างสบายใจ
 

ทำความรู้จักกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ


ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ราคา

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คือ ลักษณะกระแสไฟฟ้าที่อยู่ภายในกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งสามารถบ่งบอกการทำงานของหัวใจได้หลายอย่าง ได้แก่…

- จังหวะการเต้นของหัวใจ
- อัตราการเต้นของหัวใจ
- ลักษณะการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
- ระบบการลำเลียงและการสูบฉีดเลือดของห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง
- บ่งบอกรอยโรคหรือภาวะที่เคยเป็นได้
- โครงสร้างหรือขนาดของห้องหัวใจแต่ละห้อง
- ลักษณะการทำงานของเส้นเลือดหัวใจ
- ตรวจเช็คการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือผลข้างเคียงของฤทธิ์ยาที่รับประทานอยู่
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผิดปกติ หรือแนวโน้วความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ
 


ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถบอกอะไรได้บ้าง

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถให้ผลออกมาเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งผลการตรวจสามารถบอกได้ถึง

• อัตราการเต้นของหัวใจ

• จังหวะการเต้นของหัวใจ

• ขนาดของหัวใจและห้องในหัวใจ

หากกราฟไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติ เช่นมีเส้นกราฟที่ไม่เสมอต้นเสมอปลาย อาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบตัน หรืออาการที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจ

แพทย์สามารถแนะนำให้รับการตรวจอื่นเพิ่มเติมได้ในกรณีที่กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติ หรือคนไข้มีอาการเจ็บป่วยแต่กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่มีความผิดปกติ เพื่อการตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้นและหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยต่อไปได้
 


ข้อดีของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

หลายๆ คน อาจยังไม่ค่อยเข้าใจว่า “แล้วเราจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่ออะไร ในเมื่อยังไม่ได้เป็นอะไรสักหน่อย” การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากจะดูผลสุขภาพแบบองค์รวมได้แล้ว ยังมีข้อดีอื่นๆ ดังนี้ 

- ตรวจง่าย ใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 5-10 นาที
- ไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษไปก่อนตรวจ เช่น งดน้ำงดอาหาร
- สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย
- ไม่เจ็บ ไม่ส่งผลอันตรายต่อคนไข้
- ใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้หลากหลาย
- สามารถบ่งบอกแนวโน้มความเสี่ยงหรือภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้
- เมื่อพบความผิดปกติได้เร็ว ก็จะสามารถรีบเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงดี ลดระดับความรุนแรงของโรค ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน
 


ใครที่ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่ออะไร

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจควรเข้าตรวจทุกคนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อาจตรวจพร้อมการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเป็นการตรวจในกรณีที่มีอาการป่วยแอบแฝง สำหรับบุคคลที่ควรเข้าตรวจเป็นพิเศษ ได้แก่

• บุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วยเกี่ยวกับหัวใจ

• บุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

• บุคคลที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ควรได้รับการตรวจสุขภาพหัวใจก่อนเข้ารับการผ่าตัด

• บุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

 


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

สำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรล่วงหน้ามากนัก

• ไม่ต้องอดน้ำ/อาหาร หากมีการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามินต่างๆ หรืออุปกรณ์ช่วยการทำงานของหัวใจ ให้ผู้รับการตรวจแจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่

• หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่อาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ เนื่องจากอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ได้

• ใส่เสื้อผ้าที่ถอด/เปิดบริเวณหน้าอกได้ง่ายเพื่อความสะดวกต่อการตรวจ

 


ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เจ็บไหม

ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ 3 ขั้นตอน ได้แก่…

• ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับสื่อนำคลื่นไฟฟ้า (Electrode) ตามจุดต่างๆบนร่างกาย เช่น หน้าอก แขน

• ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนอนหงายบนเตียงในท่าที่ผ่อนคลาย

• เครื่องจะประมวลผลออกมาเป็นกราฟไฟฟ้าหัวใจเพื่ออ่านผลและวินิจฉัยภายในเวลา 5-10 นาที

 


การวินิจฉัยผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถดูได้จากผลลัพธ์กราฟไฟฟ้าหัวใจว่าอัตราการเต้นและจังหวะของหัวใจปกติหรือไม่ ซึ่งบ่งบอกถึงขนาดและความแข็งแรงของหัวใจได้อีกด้วย

หากผลลัพธ์ออกมามีความผิดปกติ อาจหมายถึงมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น เป็นโรค หรือมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น แพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจซ้ำ หรือตรวจร่วมกับวิธีอื่นๆเพิ่มเติม
 

ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ใช้วินิจฉัยโรคอะไรได้บ้าง

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมักใช้ตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บบริเวณทรวงอกในขณะที่อยู่นิ่งหรือในบริบทที่หัวใจทำงานหนักกว่าปกติ เช่น ขณะวิ่ง ดังนั้นหากอาการเจ็บทรวงอกเกี่ยวข้องกับหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจประเภทต่างๆ ได้ เช่น

• หัวใจเต้นผิดจังหวะ

เส้นเลือดหัวใจตีบ

• หัวใจล้มเหลว

• หัวใจวาย

โดยผู้สูงอายุอาจมีความจำเป็นต้องตรวจมากกว่า เนื่องจากเสี่ยงอาการเจ็บป่วยทางด้านหัวใจมากกว่าคนอื่นด้วยปัจจัยทางอายุ

 


การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับวิธีอื่น

หากมีอาการเจ็บป่วยที่การตรวจคลื่นหัวใจให้ข้อมูลได้ไม่เพียงพอ หรือหากกราฟหัวใจบ่งชี้ถึงความผิดปกติ ผู้เข้ารับการตรวจ อาจจำเป็นต้องตรวจหัวใจเพิ่มควบคู่กับวิธีอื่น เช่น ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน หรือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง

วิ่งสายพานตรวจหัวใจ

1. ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST: Exercise Stress Test)

การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test หรือ EST)

ผู้เข้ารับการตรวจจะถูกตรวจในขณะที่ออกกำลังกาย เช่น วิ่งอยู่บนสายพาน เพื่อกระตุ้นให้หัวใจทำงานและบันทึกกราฟไฟฟ้าหัวใจแบบละเอียด การตรวจแบบนี้จะได้ประสิทธิผลมากในคนไข้ที่มีอาการเจ็บ/แน่นหน้าอกขณะออกแรง เพราะการตรวจแบบธรรมดาในขณะที่คนไข้อยู่นิ่งอาจไม่พบความผิดปกติ

วิธีนี้จำเป็นต้องมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีความผิดปกติแพทย์จะตรวจดูและรู้ได้ทันที
 

2. ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram : ECHO)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram หรือ ECHO)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เป็นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหัวใจให้คลื่นความถี่สะท้อนการเคลื่อนไหวและการบีบตัวของหัวใจว่าปกติหรือไม่ การตรวจครอบคลุมไปถึงความเร็วและความดันโลหิต และความพิการของหัวใจด้วย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้ ไม่เจ็บ และใช้เวลาในการตรวจไม่เกิน 30 นาที

 


ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ สามารถทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อหาความเป็นไปได้ของอาการเจ็บป่วยต่างๆแล้ว ยังมีบริการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อการดูแลสุขภาพของคนไข้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหลอดเลือดที่เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติมเพื่อควบคู่กับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยและครบครัน

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ที่ Line: @samitivejchinatown หรือเบอร์โทร 02 118 7893

 


FAQs การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ควรตรวจบ่อยแค่ไหน

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถตรวจได้เมื่อรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติบริเวณหน้าอก หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง

หากไม่มีอาการผิดปกติ ควรตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้งให้ครอบคลุมการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย 
 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เจ็บไหม

ไม่เจ็บเลย เนื่องจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ใช้เพียงสื่อนำคลื่นไฟฟ้าเพื่อตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากคนไข้เข้าสู่เครื่องตรวจ และแปลผลออกมาเป็นกราฟเท่านั้น ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงเพียงสื่อนำคลื่นไฟฟ้าเท่านั้น ไม่รู้สึกเจ็บปวด
 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีผลข้างเคียงไหม

ไม่มีผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย อาจมีจุดแดงเป็นรอยบริเวณที่แปะเครื่องมือการตรวจ/สื่อนำคลื่นไฟฟ้า แต่รอยแดงจะหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีอันตรายเพราะเป็นการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจเท่านั้น
 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นานไหม

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ใช้ระยะเวลาการตรวจไม่นาน โดยรวมทั้งกระบวนการตรวจและอธิบายผลการตรวจ เพียงแค่ 5-10 นาที เป็นอันเสร็จสิ้น
 


ข้อสรุป

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่ทุกคนควรใส่ใจและเข้ารับการตรวจทุกปี ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นการตรวจที่รวดเร็ว เรียบง่าย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บใด

ในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การตรวจจะช่วยในการวางแผนดูแลสุขภาพชีวิตเผื่อมีแนวโน้มของอาการเจ็บป่วยในอนาคต และในขณะเดียวกันก็เป็นการตรวจเช็คสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไปเพื่อหาโรคภัยที่อาจเกิดได้ตามวัย หรือโรคภัยแฝงที่ไม่แสดงอาการได้ ดังนั้นการตรวจคลื่นไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม หากท่านใดมีคำถามเพิ่มเติมหรือต้องการเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ สามารถติดต่อทางโรงพยาบาลได้ที่เบอร์โทร 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอดไลน์โรงพยาบาล Line: @samitivejchinatown 
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​