บทความสุขภาพ

หลีกเลี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วย 10 ข้อควรรู้

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



HIGHLIGHTS:
 

  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบและแตก มากกว่าคนปกติถึง  2-5 เท่า แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคดังกล่าวลงได้ประมาณ  30 – 40% เพียงควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • การตรวจ Stroke Screening สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ตีบ แตก ตันได้  80 %
  • อาการแขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็นครึ่งซีก หรือมองไม่เห็นเลย เวียน ศีรษะ โคลงเคลง ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะรุนแรง มักเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ตีบ แตก ตัน ที่เกิดแบบเฉียบพลัน และต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
  • จากการศึกษาพบว่า การให้ยาละลายลิ่มเลือด ภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที หลังเกิดอาการ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นใกล้เคียงปกติหรือเหลือความพิการเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับยาประมาณ 30%


สมองของคนเราทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายด้านตรงข้ามตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า โดยสมองแต่ละข้างจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงแยกกัน ดังนั้นหากเกิดเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกที่สมองข้างใดข้างหนึ่ง อาการผิดปกติของ ร่างกายก็จะแสดงในซีกฝั่งตรงข้าม และมักเป็นทั้งซีก

1. ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดสมอง 

ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และหากสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีภาวะอ้วน ขาดการออกกำลังกาย เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดส่วนปลาย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงผู้มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัวก็จะยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นบุคคลทั่วไปควรตรวจเช็คร่างกายประจำปี หากพบความปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคปรึกษาและการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

2. อาการเส้นเลือดสมองแตก

อาการ แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็นครึ่งซีก หรือมองไม่เห็นเลย เวียน ศีรษะ โคลงเคลง ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะรุนแรงต่างจากที่เคยปวดเป็นประจำ เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นแบบฉับพลัน จึงควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

3. ความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก แต่ควบคุมได้

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบและแตก มากกว่าคนปกติถึง 2-5 เท่า แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคดังกล่าวลงได้ประมาณ  30 – 40% เพียงควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยลดอาหารมันและเค็ม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงรับประทานยาลดความดัน และพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด

4. ผู้สูงอายุหกล้ม ทำให้เส้นเลือดสมองแตกใช่หรือไม่

เส้นเลือดสมองแตกไม่ใช่สาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่ในทางกลับกัน โรคเส้นเลือดสมองแตกมักเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุล้มศีรษะกระแทกพื้น ซึ่งหากเกิดในระดับที่มีความรุนแรงมาก อาจทำให้เลือดออกในกะโหลกศีรษะและเกิดอาการกะโหลกศีรษะแตกร่วมด้วย

5. โรคเส้นเลือดสมอง ทำให้เป็นอัมพาตทุกรายจริงหรือ

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack -TIA) จากโรคเส้นเลือดสมอง จะมีอาการเพียงชั่วคราวแล้วหายไปภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ หลังการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด ใน 3-6 เดือน แรกหลังเกิดอาการ แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

6. การประเมินความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมอง

ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 80 % โดยการตรวจ Stroke Screening การตรวจหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance angiography) การตรวจหลอดเลือดแดงสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (transcranial doppler ultrasound) การตรวจหลอดเลือดแดงบริเวรคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (carotid duplex ultrasounds) และตรวจหัวใจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography)

7. ถึงโรงพยาบาลเร็ว โอกาสหายสูง

จากการศึกษาพบว่า การให้ยาละลายลิ่มเลือด (recombinant tissue plasminogen activator) ภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที หลังเกิดอาการ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นใกล้เคียงปกติหรือเหลือความพิการเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับยาประมาณ 30%

8. โรคเส้นเลือดสมอง ต้องอยู่โรงพยาบาลนานแค่ไหน

การพักรักษาตัวในโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้าความรุนแรงไม่มาก เช่น แขนขาอ่อนแรงเล็กน้อย พูดไม่ชัด จะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน แต่หากมีความรุนแรงมาก เช่น ขยับแขนขาไม่ได้ ซึม นอนติดเตียง จะต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากมักมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ระหว่างนอนโรงพยาบาลด้วย เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและปอด รวมถึงมีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขาและแผลกดทับ ซึ่งมีความจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น

9. การฟื้นฟูผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักมีปัญหาการช่วยเหลือตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาร่างกายอ่อนแรง หยิบจับสิ่งของและเคลื่อนไหวลำบาก จะต้องได้รับการทำกาพภาพบำบัดตั้งแต่อยู่ในโรง พยาบาล ฝึกช่วยเหลือตนเองเบื้องตน และใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน อุปกรณ์เสริมเพิ่มความแข็งแรงของขา โดยก่อนผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล แพทย์และทีมนักกายภาพบำบัดจะร่วมประเมินความพร้อมและสอนวิธีการกายภาพบำบัดด้วยตนเองที่บ้านให้กับผู้ดูแลและผู้ป่วย เพื่อการฟื้นตัวและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ที่บ้านในอนาคต

10. การดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา

นอกจากการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพจากนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลแล้ว ผู้ดูแลที่บ้านจะต้อง หมั่นให้กำลังใจผู้ป่วย และควบคุมความเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดสมอง เช่น ดูแลเรื่องการรับประทานยา และดูแลให้ผู้ป่วยทำกายภาพเองที่บ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​