บทความสุขภาพ

ป้องกันตับแข็งและไขมันเกาะตับด้วยไฟโบรสแกน (Fibro Scan)

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



ตับ เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สําคัญหลายอย่าง อาทิ ย่อยอาหารประเภทไขมัน ขจัดสารพิษ ทําลายเชื้อโรค ถ้าเราไม่ใช้งานตับมากเกินไป ตับก็จะสามารถทําหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราไม่แน่ใจว่าตับของเรายังทํางานปกติดีหรือไม่ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเครื่องตรวจตับ ที่เรียกว่า “ไฟโบรสแกน” ที่มีความแม่นยำสูง และสามารถทราบภาวะเริ่มต้นของโรคตับได้แต่เนิ่นๆ ทําให้มีโอกาสรักษาหายขาดก่อนลุกลามเป็นโรคตับแข็ง

ไฟโบรสแกน คืออะไร และตรวจเพื่ออะไร

เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยไม่เกิดความเจ็บปวดใดๆ กับร่างกาย และลดอัตราความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เมื่อเทียบกับการเจาะตับ (liver biopsy)

การตรวจไฟโบรสแกนนั้นสามารถนำผลตรวจมาเป็นตัวช่วยในการติดตามผลการดําเนินโรค และประเมินระดับความรุนแรงของภาวะตับแข็ง เพื่อดูผลการตอบสนองการรักษาและวางแผนการรักษาต่อไป โดยอาจใช้แทน การเจาะเนื้อตับในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือปฏิเสธการเจาะตับ

หลักการทํางานของเครื่องไฟโบรสแกน

ทํางานด้วยเทคโนโลยี VCTEK (Vibration Controlled Transient Elastography) โดยเครื่องทําหน้าที่สร้างและส่งผ่านคลื่น Shear Wave ความถี่ 50 เฮิรตซ์ ที่ทําให้รู้สึกสั่นสะเทือนบริเวณผิวหนัง ส่งผ่านเข้าไปยังเนื้อตับ จากนั้นเครื่องจะวัดความเร็วของ Shear Wave ที่เคลื่อนกระจายผ่านเนื้อตับ ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง แล้วคํานวณ เป็นผล ค่าความแข็งเนื้อตับ หน่วยแสดงผลเป็นกิโลพาสคาล (kPa) ยิ่งตับแข็งมาก Shear Wave ก็จะเคลื่อนที่เร็วมาก ค่าความแข็งของเนื้อตับก็ยิ่งสูง

ส่วนการวัดปริมาณไขมันสะสมในตับสามารถวัดได้ด้วยการทํางานของ CAP (Controlled Attenuation Parameter) โดยวัดการลดทอนของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เข้าและออกจากตับ หากตับมีปริมาณไขมันสะสมมาก ผลที่วัดได้ ค่า CAP จะสูง หน่วยแสดงผลเป็นเดซิเบล/เมตร (dB/m)

ตรวจไฟโบรสแกนเจ็บปวดหรือไม่

 

  • ไม่เกิดความเจ็บปวด และไม่เป็นอันตรายใดๆ กับร่างกาย
  • ง่าย รวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที พร้อมทราบผลทันที
  • จะรู้สึกสั่นสะเทือนบริเวณผิวหนังที่ปลายหัวตรวจเล็กน้อย
  • ในกรณีที่ต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด สามารถตรวจซ้ำหลายครั้งได้อย่างปลอดภัย


วิธีการตรวจไฟโบรสแกน
 

  • แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับหรือบุคลากรที่ ได้รับการอบรมจะเป็นผู้ตรวจไฟโบรสแกนได้ดีที่สุด
  • ให้งดอาหารอย่างน้อย 2 หรือ 3 ชั่วโมงก่อนทําการตรวจวัดด้วยไฟโบรสแกน
  • ให้นอนหงายโดยยกแขนทั้งสองข้างไว้เหนือศรีษะ ทาเจลที่หัวตรวจ หรือผิวหนังคนไข้เพียงเล็กน้อย
  • ทําการตรวจวัดที่บริเวณตําแหน่งตรงกลางเนื้อตับ ทั้งหมด 10 ครั้งในจุดเดียวกัน
  • แสดงผลได้เป็น ค่าความแข็งของตับ ตั้งแต่ 1.5-75 กิโลพาสคาล และค่าปริมาณไขมันสะสมในตับตั้งแต่ 100 - 400 เดซิเบล/เมตร ซึ่งแพทย์จะแปลผลที่ได้เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคตับ

*หัวตรวจไฟโบรสแกนมีให้เลือกตามความเหมาะสมของคนไข้ โดยมีให้เลือกถึง 3 ขนาด S M และ XL
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​