บทความสุขภาพ

รู้ทันโรคมะเร็งปอด มีโอกาสรอดได้

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



HIGHLIGHTS:
 

  • มะเร็งปอด มักจะไม่มีสัญญาณเตือน ซึ่งเมื่อตรวจเจอก็มักจะเป็นระยะลุกลามแล้ว และผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
  • มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้สูงถึง 90% ถ้าพบตั้งแต่ระยะแรก
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 20%


5 วิธี เลิกบุหรี่ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

1. ตั้งเป้าหมาย หาแรงบันดาลใจ
2. ไม่เก็บตัว หากิจกรรมอื่นๆทำ เพื่อไม่ให้นึกถึงบุหรี่
3. หลีกเลี่ยงอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่
4. ปรับกิจวัตร เช่น สูบบุหรี่หลังอาหาร เปลี่ยนเป็นบ้วนปากหลายๆครั้งแทน
5. อยากสูบบุหรี่มากๆ ใช้วิธีเคี้ยวหรืออมผลไม้รสเปรี้ยวแทน เช่น มะนาว มะยม


มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ ความน่ากลัวคือ ไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจนในช่วงแรก กว่าจะตรวจพบก็มักเป็นระยะลุกลามแล้วและหลังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด ผู้ป่วยจะอัตราการเสียชีวิตสูง หากตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก มีโอกาสรักษาให้หายขาดสูงถึง 90%

สาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองจึงมักทำในคนที่สูบบุหรี่เป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันพบว่า คนกลุ่มอื่นๆ ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้ เช่น ผู้ที่รับควันบุหรี่บ่อยครั้ง ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารจำพวกใยหิน สารกัมมันตรังสี ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นๆ

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดตั้งแต่เริ่มต้น นิยมใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ หรือ low-dose computed tomography (low-dose CT) เพราะมีความไวสูงสามารถตรวจหาก้อนมะเร็งได้ แม้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กหรือถูกบดบังโดยอวัยวะอื่น จึงสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยการเอกซเรย์ปอดแบบธรรมดา และเมื่อตรวจพบ จะทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที และหายขาดได้ตั้งแต่ระยะแรก

ใครบ้างที่ควรตรวจความเสี่ยงมะเร็งปอด

 

  • ผู้ที่ไอแบบไม่มีสาเหตุ เป็นระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน
  • ผู้ที่มีความกังวลต่อการเกิดมะเร็งปอด
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยมีประวัติสูบบุหรี่ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนสูบบุหรี่
  • ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารจำพวกใยหิน สารกัมมันตรังสี ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นๆ


**ผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้นควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม และเพื่อไม่ให้มะเร็งปอดเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องพรากเราหรือคนที่เรารักไป

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​