บทความสุขภาพ

LED แสงสารพัดประโยชน์

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



Light-Emitting-Diode เป็นที่รู้จักในทางการแพทย์ ในชื่อว่า LED เปรียบได้กับเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ แต่มีข้อได้เปรียบกว่าเลเซอร์ทั่วไป ในแง่ความครอบคลุมในการรักษาที่ดีกว่า และปราศจากอาการปวดขณะทำการรักษา
 
โดยปกติแล้วผิวหนังของมนุษย์สามารถดูดกลืนแสงรังสี Ultraviolet รังสี Infrared และแสงที่ตามองเห็น (Visible light) จากดวงอาทิตย์ได้ และเปลี่ยนพลังงานแสงนั้นๆ ให้กลายเป็นกระบวนการกระตุ้นทางชีวภาพต่างๆ ของผิวหนัง และเกิดการซ่อมแซมเซลล์ กระตุ้นการหายของแผล และลดการอักเสบ
 
ในทางเดียวกัน LED ซึ่งเป็นแสงสังเคราะห์สามารถให้แสงในความยาวคลื่นเลียนแบบแสงจากดวงอาทิตย์ได้ ปัจจุบันจึงมีการนำ LED มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งในด้านการรักษาโรคผิวหนังและความงาม เช่น การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด การรักษาแผล การรักษาภาวะเยื่อบุช่วงปากอักเสบ การป้องการเกิดแผลเป็นนูน การรักษาสิว การรักษาภาวะผมบางศีรษะล้านจากพันธุกรรม นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ด้านอื่นๆ เช่น การรักษาโรคทางระบบประสาทและสมอง การรักษาทางกายภาพบำบัด โรคทางช่องปากและทันตกรรม เป็นต้น
 
การรักษาแผล

จุดเริ่มต้นมาจากรายงานขององค์การ NASA ที่พบว่า LED สามารถเร่งอัตราการหายของแผลในนักบินอวกาศได้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการใช้ LED ด้วยแสงสีเหลือง แสงสีแดง และรังสี Near-infrared ช่วยรักษาและเร่งการหายของแผลได้ ทั้งแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ (Post-traumatic) แผลจากการผ่าตัด (Post-surgical) รวมทั้งแผลเรื้อรัง (Chronic wound) ที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes) ความผิดปกติของระบบไหลเวียนในหลอดเลือด (Vascular insufficiency) หรือการกดทับ (Decubitus ulcer) จากการศึกษาพบว่า LED ส่งผลให้เกิดการหดเล็กลงของแผล ลดการอักเสบ กระตุ้นการสร้างเส้นใย Collagen เพิ่มขึ้นอีกด้วย
 
การรักษาภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ (Oral mucositis)

ภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยตามหลังการรักษาด้วยคีโม (Chemotherapy) การใช้ LED ด้วยแสงสีแดง หรือรังสี Infrared ได้รับการยืนยันจากหลักฐานทางการแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง (Randomized Controlled Trial - RCT) มากกว่า 30 การศึกษาว่าสามารถป้องกัน ลดระยะเวลาที่เป็น และลดความรุนแรงของภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบได้ รวมถึงอาจจะมีประโยชน์สำหรับโรคบริเวณช่องปากอื่นๆ เช่น เหงือกอักเสบ (Gingivitis) แผลจากการบาดเจ็บ (Traumatic wound) แผลร้อนใน (Canker sore) แผลเริม (HSV) ไลเคน พลานัส (Lichen planus) และโรคเพมฟิกัส (Pemphigus) อีกด้วย

การป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน

การใช้ LED ด้วยแสงสีแดงหลังการผ่าตัดสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดแผลเป็นนูนทั้งชนิด Hypertrophic scar และ Keloid ได้ดี นอกจากนี้พบว่าการใช้แสงที่ความเข้มข้นสูง (160 J/cm2) ถึงสูงมาก (1,200 J/cm2) สามารถรักษาแผลเป็นที่เกิดขึ้นแล้วได้อีกด้วย
 
การรักษาสิว
             
การใช้ LED ด้วยแสงสีแดง (630, 660 nm) ให้ผลในรักษาสิวอักเสบผ่านกลไกลดการอักเสบของต่อมไขมัน และแสงสีน้ำเงิน (405 nm) ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว จากการศึกษาพบว่าการใช้ LED ควบคู่กับยารักษาสิวชนิดทาให้ผลการรักษาสิวที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate inflammatory acne) ได้ดีมาก
 
การรักษาภาวะผมบางศีรษะล้านจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia)
             
ปัจจุบันมี Home Use Device (HUD) สำหรับการรักษาภาวะผมบางศีรษะล้านจากพันธุกรรมที่ผ่านการยอมรับจาก FDA หลายยี่ห้อวางจำหน่ายทั้งในรูปแบบหมวก หวี หรือแผงหน้าปัด โดยใช้แสงสีแดง (660 nm) หรือรังสี Near-infrared (830 nm) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนตัว การเพิ่มจำนวน และการเปลี่ยนรูปร่างของ Stem cell ที่อยู่บริเวณ Hair bulge ส่งผลให้เส้นผมเจริญเติบโต LED เป็นวิธีการรักษาภาวะผมบางศีรษะล้านจากพันธุกรรมที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับการรักษาด้วยยา Minoxidil และ Finasteride

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​