วัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ
บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567
วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุจริงๆแล้วเราก็จะยึดตามราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ก็จะประกอบด้วย
1. ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งช่วงที่เหมาะที่สุดคือ การฉีดในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ประกาศโครงการแล้วว่าเราควรจะฉีดวัคซีนในช่วงประมาณนี้ จะมีฉีดให้ฟรีในกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนะครับ ตามกำลังซื้อของกระทรวงที่ดำเนินการ อันที่หนึ่งคือไข้หวัดใหญ่ จะเป็นสามสายพันธุ์หรือ สี่สายพันธุ์ก็แล้วแต่ อย่างปีนี้ของกระทรวงจะเป็นสามสายพันธุ์ จะเป็น A สองตัว B หนึ่งตัวนะครับ แต่ว่าที่เรามีบริการในโรงพยาบาลจะเป็นสี่สายพันธุ์ด้วย ก็จะครอบคลุมได้กว้างขึ้น
2. วัคซีนงูสวัด เนื่องจากถ้าใครได้เคยเห็นคนที่เป็นงูสวัดแล้วได้รับการรักษาช้า เราจะทราบได้เลยครับว่าเขาจะมีปัญหาปวดแสบปวดร้อนไปตลอดชีวิต ผมเคยมีคนไข้ท่านหนึ่ง ท่านเป็นงูสวัดทั้งแต่อายุยังน้อยประมาณ 30 กว่า แล้วท่านอายุยืนท่านเสียชีวิตตอนอายุเกือบร้อย คิดดูครับเขาปวดแสบปวดร้อนอยู่ตั้ง 60 ปี ซึ่งทรมาณมาก ก็เลยมีการฉีดวัคซีนงูสวัดนะครับ ฉีดครั้งเดียวตลอดชีวิต
3. วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนนี้ควรจะฉีด 10 ปีครั้งนึง ไม่จำเป็นต้องฉีดบ่อยนะครับ
4. วัคซีนปอดอักเสบ ในผู้สูงอายุเราจะแนะนำเรื่องของการฉีดว่าจะมีการฉีดครั้งที่ 1 จะเป็นชนิด 13 สายพันธุ์นะครับ เป็นวัคซีนที่สำคัญมาก เพราะว่าเรื่องปอดบวมปอดอักเสบเสียชีวิต ก็ยังเป็นปัญหาของผู้สูงอายุนะครับ เข็มที่1 เมื่อฉีดไปแล้วเราก็จะมีการฉีดเข็มที่ 2 ห่างกัน 1 ปี แต่ในเข็มที่ 2 จะเป็น 23 สายพันธุ์นะครับ ซึ่งในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ตอนนี้ก็จะมีบริการครบทั้งสองอย่าง ใครที่เคยฉีดไว้แล้ว ก็มาฉีดครั้งที่ 2 คือแบบ 23 สายพันธุ์ เพียงแต่แบบ 23 สายพันธุ์นี้ทางกาชาดไม่ได้มีบริการ อาจจะต้องไปที่โรงพยาบาลศูนย์ใกล้บ้าน โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ท่านมีการใช้บริการอยู่ ฉีด 2 ครั้ง ตลอดชีวิตเช่นกัน หลักๆความเห็นผม ผมคิดว่าถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนเหล่านี้ได้ครบก็จะทำให้ปัญหาการติดเชื้อที่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุลดลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อย่าลืมว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันไม่ให้เป็นโรค แต่ลดอัตราการป่วยและอัตราการตาย ถ้าหากป้องกันได้สัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เราก็พอใจแล้ว แต่อัตราการตายจะลดลงค่อนข้างเยอะครับ