บทความสุขภาพ

คุณกำลังเสพติด ความเครียดอยู่หรือเปล่า

บทความโดย: นายแพทย์ ก่อพงศ์ โฆวินทะ วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

 

หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อันแสนวุ่นวาย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะหลบหนีความวุ่นวาย บางคนก็ชอบความตื่นเต้นและความท้าทายของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ที่ไหนจะต้องฝ่าขบวนรถติดในตอนเช้าทุกวันเพื่อที่จะไปทำงานและเข้าห้องประชุมให้ทันเวลา อีกทั้งยังต้องเร่งทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามกำหนด ความเครียดจากพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็จะกลายเป็นอาการ 'เสพติด' ชนิดหนึ่ง  คล้ายกับที่พบได้ในคนที่ติดออกกำลังกายอย่างหนัก ที่เรียกว่า ภาวะ 'เสพติดความเครียด' (Adrenal addict) คนส่วนมากที่มีภาวะนี้ในระยะแรก มักจะยังไม่รู้ตัวเนื่องจากร่างกายมีความทนทานสูงต่อกับความเครียดที่เข้ามาในแต่ละวัน รู้ตัวอีกทีก็ล้มป่วย ติดเชื้อเฉียบพลันจนต้องเข้าโรงพยาบาล ทางการแพทย์ เราเรียกอาการนี้ว่า 'ภาวะต่อมหมวกไตล้า' หรือ 'Adrenal fatigue '

คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงต่อภาวะต่อมหมวกไตล้า

ถ้าคุณมีอาการผิดปกติที่ตรงกับ อาการแสดง ด้านล่างอย่างน้อย 5 ข้อ คุณกำลังมีความเสี่ยงสูง

• ขี้เกียจตื่นนอนตอนเช้า
• อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อยากงีบหลับ ช่วงกลางวัน
• ง่วงแต่นอนไม่หลับ
• มีอาการวิงเวียน ศีรษะ หน้ามือ เวลาเปลี่ยนท่าทาง (ลุก-นั่ง)
• อยากของหวาน, ของเค็ม
• ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
• ปวดประจำเดือนบ่อย
• เป็นภูมิแพ้กำเริบบ่อยๆ
• ท้องอืด อาหารไม่ย่อย 
• ท้องผูก
• เครียด ซึมเศร้า
• คุมอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำแต่น้ำหนักไม่ลดลง
• รู้สึก'ดีขึ้นทันที'เมื่อได้กินน้ำตาล
• ผิวแห้งและแพ้ง่าย
 
ภาวะ'ต่อมหมวกไตล้า' เป็นอาการผิดปกติของร่างกายอย่างหนึ่งที่มีความเครียดเรื้อรังเป็นตัวกระตุ้น  โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่ม'โรคที่ถูกลืม' เนื่องจากภาวะนี้ มักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและทันท่วงที่ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเจาะเลือดตรวจสุขภาพทั่วไป ที่ไม่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยภาวะนี้

ในการวินิจฉัย ภาวะต่อมหมวกไตล้า จะต้องมีวัดระดับของฮอรโมนต่อมหมวกไต(Adrenal hormones) 2ตัว ที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) และ ดีเอชอีเอ (Dyhydroepiandrosterone-DHEA) ซึ่งสามารถวัดได้จากผลเลือด Cortisol และ DHEAคือ ฮอร์โมนแห่ง'ความเครียด'ในร่างกายมนุษย์ ปัจจุบันนี้ การรักษาภาวะต่อมหมวกไตล้าจะมุ่งเน้นไปที่การปรับให้ฮอรโมน2ตัวนี้ให้อยู่ระดับที่สมดุล

Cortisol มีหน้าที่อะไร

Cortisol คือฮอร์โมนความเครียดตัวหลักของร่างกาย (Stress hormone) ปกติร่างกายจะหลั่งออกมาปริมาณมากที่สุดในตอนเช้า ช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น และมีพลังต่อสู้ในวันใหม่ของทุกวัน และจะลดลงเหลือเพียง 10% ในช่วงเย็น 

นอกจากนี้ ในสถานการณ์คับขัน Cortisol ยังมีหน้าที่กระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและอัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายให้ต่อสู้กับปัญหาข้างหน้า แต่ถ้าเรามีความเครียดสะสมเรื้อรัง จาก การทำงานหนักมากเกินไป พักผ่อนไม่พอ หรือ ออกกำลังกายเกินพอดี ระดับ Cortisol ที่สูงขึ้นจะเริ่มส่งผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจาก ฮอร์โมนตัวนี้มีฤทธิ์ ในการสลายและทำลายล้าง (Catabolic hormone) ทำให้ร่างกายเสื่อมและแก่เร็ว แต่ถ้ามีน้อยไป ก็จะทำให้ ไม่มีแรงลุกขึ้นจากที่นอนตอนเช้า ขาดความกระตือรือร้นและอ่อนเพลียตอนกลางวัน


DHEA มีหน้าที่อะไร

DHEA คือฮอร์โมนเพศชนิดหนึ่งที่เป็นฮอร์โมนตั้งต้นของทั้งฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย (Pre-sex hormones) และยังเป็น ฮอร์โมนต้านความเครียด (Anti-stress hormones) ที่มีฤทธิ์ในการเสริมสร้าง(Anabolic hormone) ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย (Stamina) กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (Libido) และชะลอความเสื่อมของร่างกาย (Delay aging) ที่สำคัญ ยังช่วยต้านฤทธิ์ของ Cortisol เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด
 
คำแนะนำสำหรับ คนที่มีภาวะต่อมหมวกไตล้า

• นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชัวโมง ควรเข้านอนก่อน 5 ทุ่ม
• รับประทานอาหารเช้า ก่อน 10.00 น. (หลัง 10.00น. ระดับCortisol จะลดลง ทำให้ยิ่งอ่อนเพลีย Cortisol จะทำงานดีขึ้นเมื่อมีน้ำตาลในเลือดเพียงพอ)
• รับประทานมื้อเล็กๆและบ่อย ๆ แทนการทานอาหารมื้อหลัก ๆ เพียง1-2 มื้อ
• ออกกำลังกายแบบหนักปานกลาง (Moderate intensity exercise) การออกกำลังกายที่หนักเกินไปจะส่งผลให้ต่อมหมวกไตล้ามากยิ่งขึ้น
• หาวิธีคลายความเครียด เช่น หางานอดิเรกทำ เดินทางไปเที่ยว
• อาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิดสามารถช่วยลดอาการต่อมหมวกไตล้าได้ เช่น Ashwaghandha (โสมอินเดีย) L-theanine (สารสกัดจากชาเขียว) Phosphatidylserine (สารสกัดจากถั่วเหลือง) วิตามิน C วิตามิน B3 วิตามิน B5 วิตามิน B6

อาการปวดเข่า

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​