บทความสุขภาพ

เอาชนะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

 
โรคมะเร็ง (Cancer) คือเซลล์เนื้องอกร้ายที่มาจับติดกับเนื้อเยื้อต่าง ๆ ของร่างกายอย่างเหนียวแน่น และยังสามารถลุกลามไปยังเนื้อเยื้อปกติที่อยู่รอบข้าง ตลอดจนแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งมะเร็งถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตผู้คนบนโลกไปเป็นจำนวนมาก มะเร็งจึงเป็นโรคที่น่ากลัว และไม่ว่าใครก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ แต่มะเร็งชนิดหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมากเลยก็คือ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ซึ่งข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2557 ระบุว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทุกประเภท หากเราไม่เริ่มป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันอย่างจริงจัง โรคนี้ก็จะกลายเป็นภัยร้ายใกล้ตัวของทุกคนอย่างแท้จริง
 
เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น ทั่วโลกจึงเริ่มตระหนักถึงภัยร้ายของโรคนี้และได้กำหนดให้เดือนมีนาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยใช้สัญลักษณ์เป็นโบว์สีน้ำเงิน ทางโรงพยาบาลสมิติเวชไชน่าทาวน์ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของโรค รวมถึงการรับรู้ถึงการดูแลสุขภาพและวิธีการป้องกันของโรค เพื่อหวังให้ทุกคนห่างไกลจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั่นเอง
 

มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดได้อย่างไร
 

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์ในลำไส้ใหญ่ โดยเซลล์ของลำไส้ใหญ่จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้งจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาเป็นปี และในระยะแรก ๆ เซลล์อาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง เนื้องอกนี้ก็อาจจะลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุดนั่นเอง

 

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เสี่ยงแค่ไหน
 

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แน่ชัด แต่เราสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นมาจากพันธุกรรมและพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เช่น การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ขาดเส้นใยอาหาร เป็นต้น ซึ่งโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่ปกติจะพบได้น้อยในคนอายุไม่ถึง 40 ปี และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่คนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะจากประวัติที่ผ่านมาเราพบว่า ผู้มีประวัติการเป็นเนื้องอกที่ผนังลำไส้ก็มีโอกาสจะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่าง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และไม่ออกกำลังกาย รวมถึงคนที่มีโรคอ้วนก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่อันตรายแค่ไหน
 

ในบางครั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่มีอาการผิดปกติที่บ่งชี้ชัดๆ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือในบางครั้ง อาการที่แสดงออกมาอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ เช่น ระบบขับถ่ายมีการเปลี่ยนแปลง ท้องเสีย สลับกับท้องผูก น้ำหนักลด อ่อนเพลีย อ่อนแรง บางคนมีเลือดออกปนมาในอุจจาระ ซึ่งอาการเหล่านี้มีความคล้ายกับอาการของโรคลำไส้และทางเดินอาหารหลาย ๆ โรค นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ป่วยหลาย ๆ คนคิดว่าไม่เป็นอันตรายและละความสนใจไป นี่จึงเป็นความน่ากลัวของมะเร็งลำไส้ เพราะหลายคนกว่าจะถึงมือหมอก็ป่วยในระยะสุดท้ายไปเสียแล้ว ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
 

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีกี่ระยะ
 

ระยะการเกิดโรคของมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเหมือนกับระยะของโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ คือแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะแรกจะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้ออยู่ที่บริเวณผิวของผนังลำไส้ใหญ่ ระยะที่สองจะเริ่มกินเข้าไปในผนังลำไส้ใหญ่ ระยะที่สามจะเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง และระยะที่สี่จะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด และสมอง แต่ก่อนที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกินร้อยละ 90 มักจะพบติ่งเนื้อ (polyp) ที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งติ่งเนื้อชนิดนี้ถือว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancerous lesion) และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ในอนาคต แต่หากตรวจพบเร็วก็สามารถตัดทิ้งได้ก่อนที่ติ่งเนื้อจะกลายไปเป็นมะเร็งนั่นเอง

 

การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
 

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีทางรักษาให้หายได้หรือไม่ คงเป็นคำถามที่หลายๆ อยากทราบ แต่ก็ต้องบอกเลยว่า ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แล้ว แต่ทั้งนี้การรักษาก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น โรงพยาบาลสมิติเวชไชน่าทาวน์จึงมุ่งเน้นให้ทุกคนตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเกิดโรค ด้วยเหตุนี้เราจึงพัฒนาศักยภาพของแพทย์ระบบทางเดินอาหารในการตรวจวินิจฉัย และเพิ่มการรักษาด้วยการส่องกล้องขั้นสูงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า NBI (Narrow Band Image)  ซึ่ง NBI เป็นเทคโนโลยีหนึ่งในการส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทั้งส่วนบนและส่วนล่างในระยะเริ่มต้นได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยแพทย์สามารถพบความผิดปกติของผิวเยื่อบุได้ในระยะแรกเริ่ม แม้ก้อนเนื้อร้ายยังไม่นูนขึ้นมา ซึ่งหากเราส่องกล้องเข้าไปแล้วตรวจพบติ่งเนื้อ แม้จะมีขนาดเล็กกว่า 2.5 – 3 เซนติเมตรก็ตาม เราก็จะทำการตัดติ่งเนื้อนั้นออกทันที แต่วิธีนี้จะไม่สามารถตัดติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่โดยใช้วิธีการส่องกล้องได้ จะต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปิดแผลที่หน้าท้องเท่านั้น ด้วยข้อจำกัดตรงนี้ จึงทำให้เราพัฒนาวิธีการรักษาที่ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น และในที่สุดเราจึงก้าวมาอีกขั้นกับเทคนิคใหม่ที่ทางการแพทย์เราเรียกว่า ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) นวัตกรรมการรักษาที่ตอบโจทย์การรักษามะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี
 
เทคนิค ESD เป็นเทคนิคขั้นสูงที่นำมาจากโรงพยาบาลซาโน ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลซาโน ประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นพันธมิตรทางการแพทย์เพื่อพัฒนาต่อยอดทางการแพทย์ให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดย ESD เป็นเทคนิคที่ช่วยให้แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการเปิดแผลที่หน้าท้อง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผลก็ว่าได้ โดยวิธีนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ลดระยะเวลาการอยู่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อน มีความปลอดภัย และที่สำคัญไม่มีแผลเป็นที่จะทำให้ต้องกังวลใจอีกด้วย นับว่าเทคนิค ESD เป็นการยกระดับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องให้สูงและดีขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งนั่นเอง

 

วิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
 

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่คือ การผ่าตัด โดยจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องหรือเปิดหน้าท้องขึ้นนั้น ทางแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละราย แต่ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาร่วมด้วย ซึ่งก็คล้ายกับวิธีการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ มักมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ
 

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
 

ความโชคดีของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มะเร็งชนิดอื่นไม่มี คือ การตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้อง สามารถตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้ในคราวเดียวกันเลยหากพบติ่งเนื้อ โดยสามารถตัดและนำติ่งเนื้อนั้นมาตรวจยืนยันได้ ซึ่งหากพบว่าติ่งเนื้อดังกล่าวเป็นแค่มะเร็งในระยะแรก การรักษาด้วยการส่องกล้องก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

 
สำหรับประเทศในแถบยุโรป ล้วนแนะนำให้ประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปทุกรายเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ และในกรณีที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้นำอายุของคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลบด้วย 10 จะได้เป็นอายุของคนที่คุณควรเข้ารับการตรวจส่องกล้อง เช่น หากคุณตาเป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น คนอื่นๆในครอบครัวควรเข้ารับการส่องกล้องเมื่อมีอายุ 30 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ และสำหรับผู้มีอายุเกิน 50 ปี หากได้รับการตรวจส่องกล้องแล้ว จะช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 53% * เลยทีเดียว

แพคตรวจสุขภาพที่แนะนำ

 
  • แพคเกจฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
  • แพคเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
  • แพคเกจตรวจภาวะกระดูกพรุน
  • แพคเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตันเฉียบพลัน
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​