บทความสุขภาพ

งูสวัด อันตรายใกล้ตัว

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

 

งูสวัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนเริมจริงหรือไม่
 

งูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า Varicella Zoster Virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส และเป็นไวรัสตระกูลเดียวกับเริมแต่เป็นคนละสายพันธ์กัน งูสวัดจึงไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนไวรัสเริม โดยมักจะพบในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ซึ่งหลังจากการติดเชื้ออีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะทำการซุกซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทสันหลัง เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอลง มันก็จะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นไปตามแนวของเส้นประสาทที่มันไปซ่อนตัวอยู่ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้อาการของโรคจะเกิดเฉพาะในแนวเส้นประสาท และแสดงออกทางผิวหนัง ทำให้ดูคล้ายงูรัดหรืองูเลื้อย

แนวเส้นประสาทผิวหนังที่พบบ่อยได้แก่ บริเวณเอว ก้นกบ ใบหน้า และ ต้นขา ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง หรือผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น ผู้สูงอายุ หญิงให้นมบุตร เป็นต้น หรือผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยที่ใช้ยาเสตียรอยด์ คนไข้เหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคงูสวัดสูงกว่าผู้อื่น
 

ภาวะแทรกซ้อนของงูสวัด
 

ถ้างูสวัดเกิดบริเวณหน้า และเข้าดวงตา อาจก่อให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ ไปจนถึงประสาทตาอักเสบ และอาจทำให้สายตาพิการได้ ถ้างูสวัดเกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าใบหู อาจทำให้เกิดอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีก คือ มีอาการหลับตาไม่สนิท มุมปากตก และไม่สามารถเลิกคิ้วได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณตุ่มน้ำใสๆ ซึ่งมักเกิดในคนที่เผลอแกะเกาตุ่มน้ำใสๆ หรือเอาสิ่งแปลกปลอมมาโปะ ทา บริเวณดังกล่าว จึงทำให้เป็นตุ่มหนอง และอาจเป็นแผลเป็นในที่สุด

กรณีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในผู้สูงอายุ หรือในผู้ป่วยเอดส์ ตุ่มใสๆ มักกระจายออกนอกแนวเส้นประสาท บางรายอาการมักจะรุนแรงและเป็นอยู่นาน ซึ่งอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายใน ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
 

ถ้างูสวัดพันรอบตัว จะทำให้เสียชีวิตจริงหรือไม่
 

โดยปกติแล้วงูสวัดจะเกิดขึ้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย ยกเว้นกลุ่มคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่อาจเกิดได้มากกว่าหนึ่งจุดของแนวเส้นประสาท มีอาการรุนแรง และเป็นอยู่นานกว่าคนไข้งูสวัดทั่วไป ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

อาการและวิธีรักษา
 

อาการที่พบบ่อยก่อนที่จะมีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นในช่วง 1-3 วันแรก คือ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดเสียวๆ แสบหรือร้อน บริเวณผิวหนังคล้ายถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อด้วยอาการดังกล่าว ก่อนที่จะถูกส่งต่อมายังแพทย์ผิวหนัง ในบางรายอาจมีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย แล้วจึงเป็นผื่นแดงขึ้นในแนวเส้นประสาทให้เห็น จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ โดยทยอยขึ้นใน 4 วันแรก และเรียงตัวตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่อักเสบ จากนั้นตุ่มน้ำใสจะค่อยๆแห้งแล้วตกสะเก็ดภายใน 1-2 อาทิตย์ อาการปวดจะทุเลาลง พร้อมกับสะเก็ดก็จะค่อยๆหลุดไป แต่ในผู้สูงอายุหรือ ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าบุคคลทั่วไป

การรักษานั้น แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ และให้ยาต้านไวรัสตามความเหมาะสม ส่วนการป้องกัน ก็ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสในกรณีเด็กเล็กหรือผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ส่วนในผู้สูงอายุหรือผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้ว ปัจจุบันนี้ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดได้แล้ว ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคพบว่า ในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพียงฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวได้ถึง 51%*


แพคตรวจสุขภาพที่แนะนำ
 
  • แพคเกจฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
  • แพคเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด Zostavax Vaccine
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
  • แพคเกจตรวจภาวะกระดูกพรุน
  • แพคเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตันเฉียบพลัน
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​