บทความสุขภาพ

รู้ก่อนผ่าตัดสะโพก เปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เตรียมตัวอย่างไร?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



อาการเจ็บปวดของร่างกายคนเราเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการมีสภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมตามอายุขัยก็จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น และหนึ่งในอาการเจ็บปวดเรื้อรัง คือ อาการปวดสะโพก ซึ่งถือว่าเป็นอาการเจ็บปวดที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบ โรคข้อเสื่อมจากอุบัติเหตุ หรือข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการข้อสะโพกเรื้อรังจนต้องทำการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดสะโพกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด


สารบัญบทความ

 


การผ่าตัดสะโพก (Hip Replacement)

การผ่าตัดสะโพก คือ เป็นการผ่าตัดที่จะนำข้อสะโพกที่มีปัญหาหรืออาการเจ็บปวดออกจากร่างกาย จากนั้นจะใช้ข้อสะโพกเทียมที่ผลิตจาก โครเมียม ไทเทเนียม หรือวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนข้อสะโพกตามธรรมชาติ โดยจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเพราะถูกใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย มีความปลอดภัยและมีระยะเวลาการใช้งานที่ค่อนข้างจะยาวนาน


อาการข้อสะโพกเสื่อมที่ควรเข้ารับการผ่าตัด

อย่างที่ทราบกันว่าอาการข้อสะโพกเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งในส่วนของอาการข้อสะโพกเสื่อมที่ควรพบแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม มีดังนี้

 

  • โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) 

บริเวณสะโพกจะมีอาการปวดบริเวณสะโพก ซึ่งอาการจะปวดรุนแรงขึ้นจากการทำกิจกรรมประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง และเมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดจะทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ โดยสาเหตุของการเกิดเนื่องจากกระดูกอ่อนที่อยู่ที่ปลายของกระดูกในข้อมีการเสื่อมทำให้มีการแตกกร่อนของกระดูกอ่อน ซึ่งนำไปสู่อาการฝืดข้อและเจ็บจนในที่สุด

 

  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) 

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อ ซึ่งจะเจ็บปวดในเวลาที่ไม่ได้มีการใช้งานข้อ และหากกินยาบรรเทาอาการก็จะสามารถช่วยได้ระดับนึงแต่อาการจะไม่หายขาด ส่วนสาเหตุของโรคนี้เกิดจากข้อต่อที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อบริเวณรอยต่อระหว่างกระดูก

 

  • โรคข้อเสื่อมจากอุบัติเหตุ (Traumatic Arthritis) 

พบอาการปวดที่บริเวณข้อสะโพกหลังจากที่ได้รับอุบัติเหตุจนอาจจะเกิดเป็นอาการเจ็บปวดสะสมแบบเรื้อรังซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสะโพก สำหรับสาเหตุของโรคนี้เกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือการประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ จากการดำเนินชีวิตประจำวัน เกิดกระดูกสะโพกหัก เป็นต้น 

 

  • ข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital Hip diseases) 

กล่าวคือเมื่อมีการใช้งานข้อสะโพกจะมีอาการปวดที่บริเวณขาหนีบ รู้สึกขัดที่ข้อสะโพกบ้าง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติข้อสะโพกที่มีการเจริญเติบโตแบบผิดปกติ ส่งผลให้ข้อสะโพกเคลื่อนหรือหลุดออกจากตำแหน่งเดิม


การตรวจวินิจฉัยอาการข้อสะโพกเสื่อม

ผู้ป่วยหลาย ๆ คนที่มีอาการเจ็บปวดข้อสะโพก ก่อนที่จะทำการผ่าตัดสะโพกต้องทำการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจแล้ววินิจฉัยตามขั้นตอน ดังนี้

 

  1. เมื่อเข้าพบแพทย์จะถูกซักถามประวัติ อาการเจ็บปวด ตำแหน่งที่มีอาการปวด และรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการปวดข้อสะโพก ซึ่งในกระบวนการนี้ผู้ป่วยสามารถบอกรายละเอียดความเจ็บปวดบริเวณสะโพกให้แพทย์ทราบได้เต็มที่ เนื่องจากหากมีการบอกรายละเอียดมากเท่าใด จะส่งผลให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น
     
  2. แพทย์จะตรวจดูสภาพของข้อสะโพกของผู้ป่วยจากการเอกซเรย์ การตรวจด้วย CT scan หรือ MRI เพื่อทำการประเมินอาการปวดข้อสะโพกของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับใด
     
  3. หลังจากที่แพทย์ทำการประเมินความรุนแรงของอาการปวดข้อสะโพกแล้ว แพทย์จะแนะนำวิธีการที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งหากไม่รุนแรงมากอาจจะกายภาพบำบัด รับประทานยา และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันแทน แต่หากอยู่ในขั้นที่รุนแรงอาจจะต้องทำการผ่าตัดสะโพก

ชนิดของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

ปัจจุบันทางการแพทย์มีพัฒนาการของการผ่าตัดสะโพก 2 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้แนะนำผู้ป่วยว่าควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบใด

 

การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมทั้งหมด 

การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมทั้งหมด (Total Hip Replacement) เป็นการผ่าตัดที่จะนำกระดูกที่ตายและกระดูกที่เสียหายออก จากนั้นจะถูกแทนที่ด้วยข้อสะโพกเทียมที่มีก้านต่อเพื่อเสียบลงในโพรงกระดูก

 

การเปลี่ยนสะโพกเทียมเพียงข้างเดียว

การเปลี่ยนสะโพกเทียมเพียงข้างเดียว (Hip Hemiarthroplasty) เป็นการผ่าตัดที่ทำการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเพียงด้านเดียวหรือเฉพาะส่วนหัวกระดูกสะโพก แต่ยังคงส่วนที่เป็นเบ้าสะโพกเดิมของผู้ป่วยไว้


ส่วนประกอบของข้อสะโพกเทียม

ข้อสะโพก ทำจากวัสดุอะไร

การผ่าตัดข้อสะโพกจะมีการใช้ข้อสะโพกเทียมซึ่งมี 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
 

  1. เบ้าสะโพกเทียมจะทำจากโลหะ จะทำหน้าที่ยึดกับเบ้าสะโพกตรงกระดูกเชิงกราน
     
  2. ส่วนผิวเบ้าสะโพกถูกทำมาจากพลาสติกชนิดพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผิวสัมผัสกับหัวสะโพกเทียม
     
  3. ส่วนหัวสะโพกเทียมจะทำจากโลหะเหมือนเบ้าสะโพกเทียม ซึ่งจะมีรูปร่างที่กลมคล้ายกับกระดูกหัวสะโพกเดิม
     
  4. ก้านสะโพกเทียมจะทำมาจากโลหะ โดยจะใช้ยึดเข้าไปกับโพรงกระดูกต้นขาส่วนต้น

ประโยชน์ของการผ่าตัดสะโพก

เมื่อพูดถึงการผ่าตัดแล้ว หลาย ๆ คนที่เคยได้ยินหรือฟังอาจจะมีความกังวลใจและอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่ความจริงของการผ่าตัดสะโพกนั้นจะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ สามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่มีความเจ็บปวดจากการปวดสะโพกเลย


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

เมื่อผู้ป่วยตัดสินใจที่จะผ่าตัดสะโพกต้องทำการเตรียมตัวก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด ดังนี้

 

  1. พบแพทย์และตรวจร่างกายโดยละเอียดว่าพร้อมสำหรับการผ่าตัดสะโพกหรือไม่
     
  2. การควบคุมและจัดการโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หากปล่อยให้น้ำตาลขึ้นอาจจะส่งผลให้ติดเชื้อได้ และโรคความดันหากไม่รับประทานยาอาจจะทำให้เลือดออกมากกว่าปกติในช่วงที่ผ่าตัดสะโพก
     
  3. งดทานยาที่จะส่งผลต่อการผ่าตัดสะโพก เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาละลายลิ่มเลือด  สมุนไพรและอาหารเสริม
     
  4. งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะส่งผลต่อร่างกายและระบบทางเดินหายใจทำให้ปอดทำงานแย่ลง และเส้นเลือดอาจจะมีปัญหาได้ อีกทั้งยังทำให้แผลผ่าตัดหายช้ากว่าปกติ
     
  5. พักผ่อนให้เพียงพอและดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายตนเอง
     
  6. เตรียมที่พักอาศัยให้พร้อมสำหรับหลังผ่าตัดสะโพก เช่น การทำราวสำหรับจับ การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบเพื่อลดการเดินบ่อย หรือจะเป็นการจัดวางสิ่งของ เครื่องใช้ที่จะเป็นไว้ในที่ที่สามารถหยิบจับและนำมาใช้งานได้อย่างสะดวก

ขั้นตอนการผ่าตัดสะโพก

สำหรับขั้นตอนในการผ่านตัดสะโพก แบ่งเป็น 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

 

  1. ก่อนที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้ยาสลบหรือการฉีดยาเข้าไขสันหลังของผู้ป่วย
     
  2. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะมีระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยแพทย์จะทำการตัดเอาส่วนหัวของกระดูกสะโพกที่มีปัญหาออกมา
     
  3. จากนั้นจะทำการเจียผิวของเบ้าสะโพกให้มีความเรียบและมีรูปร่างที่เหมาะสม
     
  4. ทำการใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไปแทนที่กระดูกของสะโพกที่มีปัญหาบริเวณด้านข้างของสะโพก
     
  5. หลังผ่าตัดเรียบร้อย ผู้ป่วยต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน ซึ่งระหว่างนั้นจะมีการช่วยในเรื่องของกายภาพบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ แล้วแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาอาการปัจจุบันของผู้ป่วยว่าสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้หรือไม่ หรือต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อนเพื่อดูอาการต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดสะโพก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหลังจากที่ผ่าตัดสะโพก ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีโอกาสเกิดน้อยมาก เช่น การติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือด ข้อสะโพกเทียมหลวม การสึกหรอของข้อสะโพกเทียม ข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุด ข้อสะโพกเทียมชำรุด เป็นต้น

 

อาการผิดปกติที่ควรรีบพบแพทย์

หากผู้ป่วยรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติบริเวณข้อสะโพก หรือหลังจากที่ผ่าตัดสะโพกแล้วมีอาการแปลกไปจากเดิม ต้องรีบมาโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ในทันที


การดูแลหลังผ่าตัดสะโพก พักฟื้นอย่างไร

การดูแลหลังผ่าตัดสะโพก แม้ว่าจะใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน แต่ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากร่างกายหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดย่อมต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ รวมไปถึงป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดด้วย ซึ่งมีวิธีการ คือ

 

  1. ควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การนั่ง การลงจากเตียง โดยอาจจะขอคำปรึกษาวิธีการปฏิบัติจากแพทย์
     
  2. ออกกำลังกายบริการกล้ามเนื้อหรือกายภาพบำบัดอยู่เสมอ
     
  3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่ส่งผลกับสะโพก เช่น การยกของหนัก การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เป็นต้น
     
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
     
  5. ทานยาและรักษาโรคประจำตัวเสมอเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ 

วิธีกายบริหารหลังผ่าตัดสะโพก

วิธีกายบริหารหลังการผ่าตัดสะโพก โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ และสามารถทำได้เองที่บ้านเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก เข่า และขา คือ

 

  • ท่าที่ 1 นอนหงาย แล้วทำการกางขา - หุบขา เข่าเหยียดตรง ประมาณ 20-40 ครั้ง
     
  • ท่าที่ 2 นอนหงาย ยกขาขึ้น โดยที่เข่าเหยียดตรง ประมาณ 20-40 ครั้ง
     
  • ท่าที่ 3 นอนหงาย งอข้อสะโพกและงอข้อเข่าแบบไม่ต้องเร็วมาก ประมาณ 20-40 ครั้ง
     
  • ท่าที่ 4 นอนหงาย กระดกข้อเท้าขึ้นและลง ประมาณ 20-40 ครั้ง

ข้อสะโพกเทียม มีอายุใช้งานนานเท่าไหร่

ผู้ที่ทำการผ่าตัดสะโพกแล้วมีการใช้ข้อสะโพกเทียมนั้น โดยปกติแล้วอายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมจะอยู่ประมาณ 20 - 25 ปี แต่ทั้งนี้อายุการใช้งานข้อสะโพกเทียมแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามการใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย


ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสะโพก 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสะโพก ราคาเริ่มต้นที่ 259,000 - 506,000 บาท


ผ่าตัดสะโพก ที่ไหนดี

สำหรับใครที่กำลังมองหาสถานที่ผ่าตัดสะโพกให้ตนเอง ผู้สูงอายุที่บ้าน หรือผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อม คงกังวลไม่น้อยว่าจะผ่าตัดสะโพกที่ไหนดี ขอแนะนำที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์ เพราะว่าที่นี่มีบริการเทียบเท่าโรงพยาบาลสมิติเวชสำนักงานใหญ่ พร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความทันสมัย สภาพแวดล้อมสะอาด รวมไปถึงใส่ใจทุกรายละเอียดของผู้ป่วย


FAQs การผ่าตัดสะโพก

ผ่าตัดสะโพก พักฟื้นกี่วัน

ผ่าตัดสะโพก พักฟื้นกี่วัน? คำถามที่หลายคนคงอยากทราบ ต้องบอกว่า การผ่าตัดสะโพกแบ่งระยะการพักฟื้นเป็น 2 แบบ คือ พักฟื้นหลังจากผ่าตัดประมาณ 4-7 วัน และหลังจากนั้นหากไม่มีอาการอะไรผิดปกติ แพทย์จะให้ไปพักฟื้นที่บ้านอีกประมาณ 2 เดือน ซึ่งในระหว่างนั้นแพทย์จะทำการนัดเพื่อดูอาการสม่ำเสมอ

ผ่าตัดสะโพก อันตรายไหม

การผ่าตัดทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยงที่ปัญหาอื่น ๆ เข้ามาได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยทั้งด้านสภาพร่างกาย และจิตใจ ซึ่งปกติแล้วขั้นตอนการผ่าตัดสะโพกจะเป็นอันตรายน้อยมากหากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เข้ามา


ข้อสรุป

การผ่าตัดสะโพกไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากลองคิดอีกหนึ่งมุมเราจะมีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแบบไม่มีอาการปวดสะโพก สิ่งที่สำคัญ คือ การเลือกโรงพยาบาลผ่าตัดสะโพกที่พร้อมทั้งแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถให้คำแนะนำได้ รวมไปถึงมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยและครบพร้อมอย่างโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ โดยสามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้


เอกสารอ้างอิง

Bostrom, M. P. (2021). Here’s What to Know if You Think You Need a Hip Replacement. from http://www.hss.edu/conditions_signs-you-may-need-a-hip-replacement.asp 

Foran, J. R. (2020). Total Hip Replacement. from http://orthoinfo.aaos.org/en/treatment/total-hip-replacement/ 

สุขใจ ศรีเพียรเอม. (2549). คู่มือการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเปลี่ยนข้อตะโพกเทียม. ค้นจาก http://lerdsin.go.th/ex/manual/manual10.pdf 


แพ็กเกจผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก 1 ข้างเริ่มต้น 295,000 บาท
ค่าข้อเข่าเทียม Implant
ค่าห้องพักแบบมาตราฐาน 5 คืน ,รวมค่าการพยาบาล,บริการห้องพัก,ค่าอาหาร,ค่าเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้อง(ตามกำหนด) Standard Room 5 Nights, Nursing, Room Service and Medical Equipment. The package includes 3 meals per day
ค่ายาผู้ป่วยใน,ค่าเวชภัณฑ์,ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์,ค่ายากลับบ้าน ขณะนอนพักในรพ. (ตามที่กำหนด) Medicine, Medical Equipment/Supplies at Ward
ค่าห้องผ่าตัด ค่าหอพักฟื้น รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ในการผ่าตัด (ตามกำหนด) Operating Room, Recovery Room, Medicine, Medical Equipment and supplies in OR
ค่าบริการการทำกายภาพบำบัด Rehabilitation Service
ค่าแพทย์ผ่าตัดและแพทย์วิสัญญี Surgeon and Anesthesiologist Fee
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​