บทความสุขภาพ

เป็นข้อเข่าเสื่อมระยะไหน จะรู้ได้อย่างไร?

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567


เราเป็นข้อเสื่อมมากหรือยัง จะรู้ได้อย่างไร?
 
หลังจากที่ได้พอรู้จักโรคข้อเสื่อมมาบ้างแล้ว หลายท่านเริ่มสังเกตแล้วว่าเราก็เคยมีอาการเจ็บเข่า อายุก็ใช่ แต่ก็เป็นๆหายๆ หรือ เจ็บเฉพาะบางจังหวะไม่ทำก็ไม่เจ็บ เอ๊ะ! แล้วอย่างนี้เราเริ่มมีอาการของโรคข้อเสื่อมหรือยัง

จริงๆแล้วโรคข้อเข่าเสื่อมก็เหมือนกับโรคส่วนใหญ่นะครับ มีหลายระยะอาการ รุนแรงแตกต่างกัน สำหรับข้อเข่าเสื่อมอาการก็จะพัฒนาขึ้นตามลำดับการเกิดโรคนะครับ (จุดนี้ถ้าท่านใดยังไม่ได้อ่าน รู้จักโรคข้อเสื่อม กลับไปอ่านก่อนได้เลยครับ

ระยะอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมีดังนี้ครับ   
 ​
ระยะแรก  ตอนนี้กระดูกอ่อนผิวข้อยังสึกไม่มาก อาการเจ็บเข่า จะมีเฉพาะเวลาทำกิจกรรมที่ใช้งานข้อเข่ามากๆ หรือ มีแรงกดมาที่ผิวข้อเยอะๆ เช่น ตอนขึ้นหรือลงบันได ตอนนั่งยอง นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ หลายท่านมีอาการหลังจากเดินไกลๆ เช่นตอนไปท่องเที่ยว มีอาการตอนนั่งรถแคบๆที่ต้องนั่งงอเข่าอยู่นานๆ หรือ หลังจากไปทำบุญที่วัด เพราะไปนั่งพื้นมา อาจจะมีเสียงดังในเข่าได้บ้างอาจจะดังเป็นบางจังหวะและไม่ใช่เสียงกรอบแกรบชัดเจน ระยะนี้จะปวดไม่นาน ปวดเป็นช่วงๆหลังทำกิจกรรมที่กล่าวมา และอาการดีขึ้นเองได้

ระยะปานกลาง ระยะนี้ความสึกหรอในข้อจะเพิ่มมากขึ้น ผิวข้อมีความเสียหายมากขึ้น เกิดการอักเสบต่อเนื่องในข้อเข่า จะมีอาการปวด บวม อุ่นในข้อบ่อยขึ้น มีเสียงดังในเข่าขยับดูจะมีเสียงกรอบแกรบในข้อ อาการเจ็บข้อจะเป็นตอนทำกิจกรรมปกติธรรมดา เช่น ยืน เดินพื้นราบปกติ ตอนลุกจากเก้าอี้ธรรมดาก็จะลุกลำบากขึ้น ลุกช้า ลุกแล้วต้องยืนตั้งตัวซักพักถึงจะออกเดินได้ สำหรับกิจกรรมที่ใช้งานเข่ามาก ก็จะมีอาการเจ็บมากขึ้นด้วย เช่น ตอนขึ้นบันไดเจ็บเข่ามาก ขึ้น-ลงได้ลำบาก นั่งพื้น นั่งงอเข่าไม่ได้เลย ระยะนี้อาการปวดอักเสบอาจจะต่อเนื่อง ไม่หายเอง หรือ หายก็ไม่หายสนิทครับ

ระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อสึกหรอหลายตำแหน่งหรือเป็นวงกว้าง กระดูกอ่อนอาจจะบางลงจนไม่เหลือเลย ระยะนี้เข่าจะมีความผิดรูป ขาโก่ง งอเหยียดไม่สุด งอไม่ลง เดินตัวเอียงไปซ้าย-ขวา (ต้องโยกตัวเดิน) อาการเจ็บปวดอาจจะเป็นตลอดทุกครั้งที่ยืน เดิน หรือขยับเข่า หรือ อาจจะไม่เจ็บปวดแล้ว เพราะข้อเข่าติดแข็งมาก เคลื่อนไหวได้น้อย กลุ่มนี้จะมีความผิดรูปของข้อเด่นชัดมากกว่าอาการเจ็บปวด

ลองสำรวจตรวจตราอาการของตัวท่านเองดูนะครับ ว่าเข้ากับอาการใดบ้าง ถ้ายังไม่แน่ใจก็อาจจะมาให้แพทย์ได้ลองตรวจดู เพื่อความชัดเจนที่ยิ่งขึ้นนะครับ จะได้ดูแลรักษาข้อเข่ากันต่อได้ถูกต้อง 
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​