บทความสุขภาพ

อาการปวดข้อตามจุดต่างๆ บอกโรคใดได้บ้าง? รู้ก่อน รักษาก่อน!

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

แม้ว่าอาการปวดข้อจะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่อาการปวดที่มาจากการได้รับบาดเจ็บตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย ที่ไม่ได้ดูร้ายแรงแต่อย่างใด ทำให้หลายคนเลือกที่ละเลย เมื่อตนเองรู้สึกปวดกระดูกตามข้อ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมือ ปวดนิ้ว ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อต่ออื่นๆ แต่จริงๆ แล้วอาการปวดข้ออาจจะเป็นสัญญาณเตือนบางอย่าง ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าข่ายหรือสุ่มเสี่ยงเป็นโรคแรงบางชนิด 

บทความนี้จะช่วยให้อธิบายสาเหตุเพราะอะไร ที่ทำให้ปวดข้อ อาการปวดข้อตามจุดต่างๆ เป็นอย่างไร อาการปวดข้อแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์ แนวทางการป้องกัน และวิธีรักษาอาการปวดตามข้อ เพราะการปวดข้อสามารถเกิดได้กับทุกคน และอาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างจากร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้าม


สารบัญบทความ
 


ปวดข้อ (Joint Pain)

อาการปวดข้อ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Joint Pain เป็นอาการที่สามารถพบได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น ปวดตามข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเท้า และข้อเข่า โดยที่สาเหตุของอาการปวดข้อมีสาเหตุที่หลากหลายแตกต่างกันไป ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดข้ออาจจะมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัวหรือโรคบางชนิด โดยโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อมีมากกว่า 100 โรค

อาการปวดข้อส่วนใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือ ไม่สามารถเล่นกีฬาและทำกิจกรรมบางชนิดได้ หรือรบกวนเวลาพักผ่อน เนื่องจากอาการปวดตามข้อตอนกลางคืน ทั้งนี้หากผู้ป่วยละเลยอาการปวดข้อตามร่างกายไม่พยายามรักษาหรือบรรเทาอาการ จะยิ่งทำให้อาการปวดแย่ลงเรื่อยๆ และอาจจะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้


ปวดข้อเกิดบริเวณใดได้บ้าง

อาการปวดข้อนับเป็นอาการที่พบได้บ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง โดยที่อาการปวดข้อที่พบได้บ่อย มีดังนี้ 
 

  • ข้อเข่า
  • ไหล่และหัวไหล่
  • ข้อมือและนิ้วมือ
  • ข้อเท้าและนิ้วเท้า 
  • สะโพก
  • ข้อศอก
  • คอ

โดยที่อาการปวดข้อผู้ป่วยสามารถมีอาการปวดมากกว่า 1 จุด หรือ ปวดหลายข้อพร้อมกันในร่างกาย เช่น ปวดสะโพกและเข่า หรือ ปวดข้อมือและนิ้วมือในเวลาเดียวกัน ซึ่งการปวดข้อหลายข้อพร้อมกันอาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็นโรครูมาตอยด์ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและหาสาเหตุของอาการปวด


ลักษณะอาการปวดข้อเป็นอย่างไร

อาการปวดข้อเป็นอาการปวดที่มีลักษณะ และบริเวณที่ปวดแตกต่างกันออกไป แต่มีลักษณะอาการปวดข้อที่สามารถพบได้บ่อย มีดังนี้ 
 

  • อาการปวดข้อจากการออกกำลังกาย

อาการปวดข้อที่มีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือปวดข้อเพราะได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น ปวดข้อเท้าเพราะกระโดดบ่อยเกินไป ปวดข้อเข่าเนื่องมาจากการเดิน หรือการเล่นกีฬาที่ได้รับกระแทกมากๆ จนทำให้ข้อต่อในร่างกายได้รับการบาดเจ็บ
 

  • อาการปวดข้อที่พบร่วมกับไข้หวัด

เมื่อป่วย ไม่สบาย หรือเป็นไข้หวัด ผู้ป่วยบางรายอาจจะพบอาการปวดข้อ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย แต่การปวดข้อที่พบร่วมกับไข้หวัดมักเป็นอาการปวดเมื่อยธรรมดา ที่ไม่มีการอักเสบหรือบวมแดงที่ข้อต่อ และอาการปวดข้อจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหายไข้ 
 

  • อาการปวดข้อที่มีสาเหตุมาจากโรคบางชนิด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อที่มีสาเหตุมาจากโรคบางชนิด มักจะเป็นอาการปวดที่มีการอักเสบร่วมด้วย โดยโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นต้น 

โดยจะมีลักษณะอาการปวดข้อที่รุนแรง ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ฉีดยา และกายภาพบำบัดได้ วิธีสุดท้ายที่แพทย์เลือกจะเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดข้อ


ปวดข้อเกิดจากสาเหตุใด

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าสาเหตุของการปวดข้อต่อตามร่างกาย มีสาเหตุที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดข้อที่พบได้บ่อย มีดังนี้ 
 

การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ

อาการปวดข้อที่พบได้บ่อย มักมีสาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณข้อต่อตามร่างกาย ได้แก่ กระดูกอ่อนผิวข้อ หมอนรองข้อ เยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อต่างๆที่อยู่รอบๆข้อต่อ รวมไปถึงกระดูกหักและเคล็ดขัดยอก 
 

การใช้งานข้อที่มากเกินไป

การใช้งานข้อผิดวิธีและใช้งานหนักเกินไป สามารถทำให้เกิดอาการปวดข้อได้ ไม่ว่าจะเป็น การยืนบนรองเท้าส้นสูงเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงทำให้ปวดข้อเท้า การยกของที่มีน้ำหนักมากทำให้ปวดไหล่ หรือการเล่นกีฬาบางประเภทที่จำเป็นต้องใช้ข้อมือก็สามารถทำให้ปวดข้อมือได้ ทั้งนี้การใช้งานข้อที่มากเกินขีดจำกัดของร่างกายจะทำให้ปวดข้อ ยังทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของส่วนประกอบต่างๆ ภายในข้อ 
 

ช่วงวัยหรืออายุที่มากขึ้น

อาการปวดข้อ แม้ว่าจะสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากการเสื่อมสภาพของอวัยวะภายในร่างกายตามกาลเวลา เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ อวัยวะภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ ภายในร่างกายก็เสื่อมสภาพตามลงไปด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีอาการปวดตามข้อ 
 

การอักเสบติดเชื้อ

อาการปวดข้อที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด มักจะมีอาการผื่นหรือมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง และบวมแดงบริเวณข้อต่อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคข้อเสื่อมที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรและกิจกรรมบางชนิดได้ในที่สุด 
 

โรคบางชนิด

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าโรคบางชนิดสามารถทำให้เกิดการปวดข้อตามร่างกายได้ เนื่องจากเกิดการอักเสบภายในกระดูกและข้อ และโรคที่สามารถทำให้เกิดอาการวดข้อที่พบได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อภายในข้อ โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ และโรคเอสแอลอี เป็นต้น


อาการปวดข้อบอกโรคอะไรได้บ้าง

เพราะอาการปวดข้อสามารถเกิดได้จากโรคร้ายบางชนิด มาทำความรู้จักกับโรคที่สามารถทำให้เกิดการปวดบริเวณตามข้อต่อต่างๆ ภายในร่างกาย 
 

1. โรคข้อเสื่อม

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หรือ โรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม เป็นโรคข้อที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากกระดูกอ่อนที่อยู่ที่ปลายของกระดูกในข้อมีการเสื่อมสภาพ จนทำให้เกิดการแตกกร่อนของกระดูกอ่อน และทำให้เกิดอาการฝืดและปวดข้อได้ 

โดยโรคข้อเสื่อมมีสาเหตุมาจาก ความอ้วน อุบัติเหตุบริเวณข้อต่อ กล้ามเนื้อรอบข้อต่ออ่อนแรง การอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อ และเส้นประสาทรอบข้อเสียความสามารถในการรับรู้ความรู้สึก
 

2. โรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์มีสาเหตุมาจากการสะสมของผลึกกรดยูริกตามข้อต่อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม และแดงบริเวณข้อต่ออย่างเฉียบพลัน แม้ว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ขยับและไม่ได้รับอุบัติเหตุก็ตาม สามารถพบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิงในวัยหมดประจำวันเดือน อาการของโรคเก๊าท์มักจะมีอาการปวดข้อเดียวไม่ปวดพร้อมกันหลายข้อ และมักปวดที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า 
 

3. โรคข้ออักเสบ

โรคข้ออักเสบ (Arthriti) มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะข้ออักเสบ ไม่ว่าจะเป็น จากการติดเชื้อแบททีเรียและไวรัส การเสื่อมสภาพและสึกหรอตามอายุการใช้งาน มักมีอาการปวดเมื่อย บวม และเจ็บเมื่อกดบริเวณข้อต่อ โดยโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคข้อเสื่อม และโรครูมาตอยด์ 

มักจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ไม่สามารถทำกิจวัตรและกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันได้ สำหรับผู้ป่วยที่ละลาย ไม่เข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอันตรายถึงชีวิตได้ 
 

4. โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบตามส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย ไม่ใช่เพียงอาการปวดข้อเท่านั้น โดยเกิดจากที่ระบบภูคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ และไปทำลายอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายของตนเอง โดยที่ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจจะถึงขั้นพิการ เนื่องจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อทำให้กระดูกถูกทำลายและผิดรูป 

ลักษณะอาการของโรครูมาตอยด์ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดข้อในช่วงหลังจากตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังจากที่ไม่ได้ใช้งานข้อเป็นระยะเวลานาน โดยที่อาการจะอยู่ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรืออาจจะทั้งวัน ตำแหน่งของข้อที่มีอาการปวดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ บริเวณข้อมือและข้อนิ้วมือ 
 

5. โรคแพ้ภูมิคุ้มกัน

โรคแพ้ภูมิคุ้มกัน หรือที่หลายคนเรียกว่า โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ไปทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตนเองจนเกิดการอักเสบและความผิดปกติของอวัยวะทั่วทั้งร่างกาย ไม่ใช่เพียงแค่บริเวณข้อต่อเท่านั้น โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคเอสแอลอี ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม การติดเชื้อภายในร่างกาย และแสงแดด เป็นต้น มักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการทางกล้ามเนื้อและข้อ ทำให้เกิดการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า และข้อเท้า เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการบวมแดงร่วมด้วย ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรครูมาตอยด์


ใครบ้างที่เสี่ยงเกิดอาการปวดข้อ

แม้ว่าอาการปวดข้อจะเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยและสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดการปวดข้อได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ 
 

  • ผู้ที่เคยมีประวัติได้รับอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณข้อ 
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน และเป็นโรคอ้วน 
  • ผู้ที่ใช้งานกล้ามเนื้อและข้อต่อมากเกินไป
  • วัยกลางคน หรือผู้สูงอายุ 
  • โรคบางชนิด เช่น รูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง และโรคข้ออักเสบ เป็นต้น

อาการปวดข้อที่ควรพบแพทย์

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดข้อ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมทันที 
 

  • อาการปวดข้อเรื้อรังและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีท่าว่าจะดีขึ้น 
  • อาการปวดข้อแบบเฉียบพลัน หลังจากที่ได้รับการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ 
  • หากมีอาการอื่นๆ ร่วมกับอาการปวดข้อ ไม่ว่าจะเป็น บวม แดง หรือปวดข้อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เนื่องจากอาการปวดที่รุนแรง 
  • แม้ว่าจะพักการใช้งาน ทายา หรือรับประทานยาแก้ปวดแล้ว แต่อาการปวดข้อกลับไม่ดีขึ้น 

หากคุณมีอาการหนึ่งในที่กล่าวมาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีบรรเทาอาการปวดทันทีไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นอาการปวดข้อเรื้อรัง เพราะจะทำให้การรักษายากมากกว่าเดิม


การวินิจฉัยอาการปวดข้อ

เนื่องจากอาการปวดข้อมีหลายสาเหตุ ทำให้การวินิจฉัยอาการของโรคแตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งการวินิจฉัยการปวดข้อได้เป็น 3 วิธีใหญ่ๆ ดังนี้
 

การตรวจลักษณะอาการภายนอก 

ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนการวินิจฉัยที่ผู้ป่วยทุกคนต้องพบ โดยตอนแรกแพทย์จะทำการซักประวัติของผู้ป่วยปวดข้อมานานเท่าไหร่ อาการปวดเป็นอย่างไร เคยมีประวัติได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณที่ปวดหรือไม่ รวมไปถึงประวัติการใช้งานข้อ นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจลักษณะภายนอก ได้แก่ อาการบวม แดง และเมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกอุ่นๆ บริเวณข้อต่อหรือไม่
 

การตรวจเอกซเรย์

การตรวจเอกซเรย์เป็นการตรวจที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อรุนแรง และผู้ป่วยที่มีสาเหตุของการปวดข้อมาจากการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ โดยการเอกซเรย์เป็นการตรวจหาจุดที่แตกร้าวและอาการบาดเจ็บของกระดูก เส้นเอ็นบริเวณรอบข้อต่อ และกล้ามเนื้อ โดยปัจจุบันมีการเอกซเรย์ที่นิยมใช้ทั้งหมด 3 แบบ ดังนี้
 

  • ฉายภาพเอกซเรย์ (X-ray) เป็นการใช้เครื่องฉายรังสีไปยังบริเวณขาหรือน่องที่มีอาการปวด เพื่อดูโครงสร้างของขาและน่อง พร้อมทั้งนำมาประกอบการวินิจฉัยโรค 
  • TC Scan หรือที่เรียกกันว่า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ วิธีนี้จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของกระดูก เนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นต่างๆที่ขามากกว่าวิธีแรก 
  • Magnetic Resonance Imaging หรือ การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วยเครื่อง MRI วิธีนี้เป็นการหาจุดที่เกิดความเสียหายที่กระดูก เนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นต่างๆ โดยเครื่อง MRI จะฉายภาพโครงสร้างและรายละเอียดต่างๆ

การตรวจเลือด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อที่มีโอกาสเป็นโรครูมาตอยด์ แพทย์จะใช้วิธีการเจาะเลือดและนำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ โดยหากตรวจพบค่าการอักเสบในเลือด (ESR) และ Rheumatoid Factor ค่า Anti CCP IgG จะขึ้นสูง 

ในบางกรณีอาจจะต้องเจาะตรวจน้ำไขข้อเพื่อแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ นอกจากโรครูมาตอยด์แล้ว ยังมีอาการปวดข้อจากโรคอื่นๆ ที่ใช้วิธีตรวจโดยการตรวจเลือด ได้แก่ โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE)


วิธีรักษาอาการปวดข้อ

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อไม่รุนแรงสามารถบรรเทาอาการปวดได้เองที่บ้าน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทางที่ดีที่สุดในการรักษาอาการปวดผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากการรักษาอาการปวดข้อแต่ละบริเวณบนร่างกายมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน โดยวิธีรักษาอาการปวดข้อทั้งหมด มีดังนี้
 

1. ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี

การออกกำลังกายอย่างถูกวิธีหรือออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สามารถช่วยทำให้อาการปวดข้อบรรเทา และช่วยให้ข้อกลับมาแข็งแรงมีความยืดหยุ่นเหมือนเดิมได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องข้อ แนะนำให้เลือกการออกกำลังกายที่มีการยืดเหยียดเบาๆ และแรงกระแทกต่ำจะดีที่สุด เช่น การเดิน ว่ายน้ำ และโยคะ เป็นต้น 

และผู้ที่เคยออกกำลังกายอย่างหักโหมควรงดกีฬาที่มีแรงกระแทกหนักๆ หรือลดจำนวนรอบและเวลาในการออกกำลังกายลง ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากการออกกำลังกายสามารถทำให้อาการปวดข้อแย่ลงมากกว่าเดิมได้ 
 

2. การประคบร้อนและประคบเย็น

ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยข้อไม่รุนแรง สามารถใช้วิธีประคบบริเวณที่ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้ โดยที่การประคบสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ ดังนี้ 
 

  • ประคบร้อน

การประคบร้อนเป็นการช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว และช่วยให้การไหลเวียนของเลือดคล่องตัวมากขึ้น และการประคบร้อนสามารถบรรเทาอาการเจ็บได้ โดยที่การประคบร้อนเหมาะกับอาการปวดข้ออักเสบเรื้อรัง ตึงบริเวณข้อ หรือได้รับจากการบาดเจ็บ หรือฟกช้ำ 48 - 72 ชั่วโมง 
 

  • ประคบเย็น

การประคบเย็นเป็นการช่วยให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยให้เลือดออกน้อยลง และดูดซึมน้ำกลับเข้าหลอดเลือดส่งผลให้อาการบวมยุบลง จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดข้อที่มีสาเหตุมาจากข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง หรือการปวดข้อที่ได้รับแรงกระแทก เป็นต้น 
 

3. การใช้ยาบรรเทาอาการ

ในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่สามารถใช้บรรเทาอาการปวดข้อ โดยที่จะแบ่งออกไปตามสาเหตุและอาการความรุนแรงของโรค สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
 

  • ยาแก้ปวด ยากิน ยาทา

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อไม่รุนแรง ปวดเป็นครั้งแรกสามารถทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ โดยเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและห้างสรรพสินค้าทั่วไป และเป็นยาสามัญประจำบ้านไม่จำเป็นต้องมีใบแพทย์สั่งยาจากแพทย์ นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการปวดสามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ยาทาภายนอกส่วนใหญ่จะเป็นการบรรเทาอาการปวดเพียงชั่วคราวเท่านั้น
 

  • ยาแก้อักเสบ

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อระดับปานกลางไปถึงรุนแรง ซึ่งอาจจะมีอาการบวมร่วมด้วย สามารถใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือที่หลายคนเรียกว่า ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดเข่า ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin) เซเลคอกซิบ (Celecoxib) และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และผู้ที่มีปัญหาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาเพื่อความปลอดภัย 
 

  • ยารักษาข้อเข่าเสื่อม

ยารักษาข้อเข่าเสื่อมจะออกฤทธิ์ชะลอความเสื่อมของผิวข้อ รักษาสภาพความเสื่อมของผิวข้อ หรือ ช่วยเปลี่ยนแปลงโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดีระดับหนึ่ง โดยปัจจุบันยารักษาข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิด ได้แก่ กลูโคซามีน และ โคลชิซิน อย่างไรก็ตามยารักษาข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาอาการปวดข้อได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถทำให้อาการปวดข้อหายขาดได้ 

เนื่องจากอาการปวดข้อ เป็นอาการที่มีสาเหตุการปวดที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้มียาหลายชนิดที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ ทั้งนี้ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยา เพื่อควาปลอดภัยของผู้ป่วยเอง
 

4. การทำกายภาพบำบัด

วิธีการรักษาอาการปวดข้อด้วยการทำกายภาพบำบัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาการปวดข้อดีขึ้นแล้วเท่านั้น เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดที่ผิดวิธีและไม่เหมาะสมสามารถทำให้อาการทรุดลงได้ การทำกายภาพบำบัดที่ดีควรทำควบคู่ไปกับการรักษาอาการปวดด้วยวิธีอื่น ที่สำคัญการทำกายภาพบำบัดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัดเท่านั้น 
 

5. การฉีดยาแก้ปวดเข่า

สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาแก้ปวดและแก้อักเสบแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาแบบอื่น ได้แก่ การฉีดยา ในปัจจุบันมีการฉีดยา 2 แบบ เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ ดังนี้ 
 

  • ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า

การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า เป็นการเลียนแบบน้ำเลี้ยงข้อเข่าที่ร่างกายสร้าง เพื่อทำให้ภายในข้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยน้ำเลี้ยงที่ฉีดเข้าร่างกายจะประกอบไปด้วย Hyalulonic ที่เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำเลี้ยงข้อเข่า วิธีนี้จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงไปจนถึงปานกลาง โดยการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
 

  • ฉีดสเตียรอยด์

การฉีดสเตียรอยด์เป็นการฉีดเพื่อยับยั้งอาการอักเสบของข้อ และสามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการปวดและลดการอักเสบได้ภายใน 24 - 49 ชั่วโมง การฉีดสเตียรอยด์จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่ปวดข้อที่ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยวิธีรับประทานยา และการฉีดสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย แพทย์จำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 
 

6. การผ่าตัด

การผ่าตัดมักเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์เลือกใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้วิธีรักษาแบบอื่นได้ โดยการผ่าตัดผู้ป่วยที่ปวดข้อจะมีหลายกวิธีแตกต่างกันออกไป เนื่องจากอาการปวดข้อมีหลากหลายแบบ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่า 

ปัจจุบันได้มีการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีส่องกล้องเพื่อรักษาอาการปวดข้อและวิธีนี้ยังใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่าการผ่าตัดทั่วไป หรือ ผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมตามวัย ปัจจุบันมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ 

ทั้งนี้หากต้องรักษาอาการปวดข้อด้วยวิธีผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยคนใช้วิธีใดในการรักษาอาการปวดข้อ


แนวทางป้องกันอาการปวดข้อ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อหลังจากรักษาหายแล้ว สามารถปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเกิดอาการปวดข้อซ้ำอีก 
 

  • พักผ่อนให้เพียง การพักผ่อนสามารถช่วยให้ร่างกาย กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น พักฟื้นและซ่อมแซมตนเอง 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตามหลักโภชนาการ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยการปวดข้อลง 
  • หลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก เช่น ออกกำลังกายอย่างหักโหม ยกของหนัก หรือกิจกรรมที่ได้รับแรงกระแทก
  • ยืดกล้ามเนื้อทุกครั้ง
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​