บทความสุขภาพ

เอ็นหัวไหล่อักเสบ อาการเป็นอย่างไร? พร้อมแนะนำวิธีรักษาและป้องกัน

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

เอ็นหัวไหล่อักเสบคืออะไร มักมีอาการแบบใด ?  หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีอาการปวดไหล่ ยกแขนแล้วมีเสียงดัง กร๊อบ! พร้อมอาการปวดอย่างรุนแรง หรือ อาการปวดไหล่รบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ควรนิ่งนอนใจอย่างเด็ดขาด เพราะอาการปวดไหล่ที่คุณเผชิญอาจจะไม่ใช่อาการปวดไหล่ธรรมดา แต่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณเข้าข่าย “เอ็นหัวไหล่อักเสบ” ซึ่งโรคเอ็นหัวไหล่อักเสบเป็นอาการที่ควรรีบรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงอาจจะร้ายแรงถึงขั้นพิการและไม่สามารถใช้งานแขนได้ 

บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ โรคเอ็นหัวไหล่อักเสบ ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค วิธีสังเกตอาการเอ็นไหล่อักเสบต้องทำอย่างไร พร้อมทั้งแนะนำแนวทางรักษาและวิธีบริหารหัวไหล่เพื่อป้องกันโรคหัวไหล่อักเสบ 


สารบัญบทความ

 


เอ็นหัวไหล่อักเสบ

หัวไหล่เป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย โดยมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ยึดโดยรอบ ซึ่งไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้งานข้อต่อในส่วนนี้ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ทำความสะอาดบ้าน แต่งตัว ทำงาน หรืออื่นๆ 

ทำให้หัวไหล่ เส้นเอ็น และ กล้ามเนื้อบริเวณรอบหัวไหล่มีโอกาสได้รับบาดเจ็บได้มากกว่าข้อต่ออื่นๆ โดย อาการเอ็นหัวไหล่อักเสบ (Shoulder Tendinitis) เป็นการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อโรเทเตอร์ คัฟฟ์ (Rotator Cuff) หรือ เส้นเอ็นบริเวณรอบหัวไหล่ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนเกิดอาการเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย 


เอ็นหัวไหล่อักเสบ เกิดจากสาเหตุอะไร

อาการเอ็นหัวไหล่อักเสบเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสามารถ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบมี ดังนี้

 

เอ็นหัวไหล่อักเสบจากอุบัติเหตุ

 

อุบัติเหตุ หรือ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดไหล่ หรือ เอ็นหัวไหล่อักเสบ โดยระหว่างที่เกิดอุบัติเหตุอาจจะเกิดการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่บริเวณหัวไหล่จนทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อต่อได้รับบาดเจ็บ หรือ อาจจะรุนแรงถึงขั้นฉีกขาด 

ทั้งนี้ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุแล้วรู้สึกปวดหรือเจ็บที่หัวไหล่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากกว่าเดิม 

 

เอ็นหัวไหล่อักเสบจากปัจจัยอื่น

 

  • การใช้งานหนัก 

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเอ็นหัวไหล่อักเสบ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะใช้งานไหล่ซ้ำๆ หรือ ใช้งานหนัก จนทำให้เส้นเอ็นรอบหัวไหล่เกิดการอักเสบหรือฉีกขาด โดยเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นต้องยกแขนขึ้นสูง เช่น ทาสีฝาผนังเพดาน ปัดฝุ่นหรือเช็ดถูหน้าต่าง ตัดแต่งกิ่งไม้ การเล่นกีฬา ร่วมไปถึงงานแบกหามที่ต้องยกของหนัก

 

  • เอ็นหัวไหล่เสื่อม

อาการเอ็นหัวไหล่อักเสบเป็นอาการที่มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากเส้นเอ็นและกระดูกของผู้สูงอายุสามารถเกิดการบาดเจ็บและฉีกขาดได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยรองรับว่าภาวะเอ็นหัวไหล่เสื่อมและขาดเลือดไปเลี้ยงเส้นเอ็นสามารถทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาดได้ 

 

  • เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด

เอ็นหัวไหล่ฉีดมักจะมีสาเหตุมาจากการใช้งานไหล่มากเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อต่อบริเวณหัวไหล่ได้รับบาดเจ็บและเกิดอาการอักเสบ ซึ่งมักจะตามมาด้วยอาการเจ็บปวดรุนแรง ทำให้ไม่สามารถยืดแขนออกจากร่างกายได้ 

 

  • ข้อไหล่ติด

อาการไหล่ติดเป็นอาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถยกแขนขึ้นได้สุดแขน โดยเมื่อยกแขนขึ้นมักจะมาพร้อมกับอาการปวดอย่างรุนแรงและรู้สึกสะดุดติดขัด ทำให้ไม่สามารถยกแขนได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และภาวะข้อไหล่ติดยังเป็นภาวะที่สามารถพบได้มากในผู้ป่วยที่มีอายุ 40-60 ปี 

ทั้งนี้แม้ว่าอาการข้อไหล่ติดอาจจะไม่ได้อันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประวันจำของผู้ป่วยหลายๆ คน ซึ่งในบทความ ไหล่ติด ได้แนะนำแนวทางป้องกันและวิธีรักษาที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอาการข้อไหล่ติด 

 

  • หินปูนในข้อไหล่

ผู้ป่วยที่มีอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบบางรายอาจจะพบหินปูนในข้อไหล่ บริเวณกระดูก Acromian โดยมีสาเหตุมาจากการเสียดสีของเส้นเอ็นหัวไหล่จากการทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาบางชนิด เช่น ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ หรือแบดมินตัน ซึ่งหินปูนในข้อไหล่ หากไม่ได้รับการรักษาสามารถรุนแรงจนทำให้เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tendon Teat) ได้

 

เอ็นหัวไหล่อักเสบจากโรคต่างๆ

 

นอกจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการเล่นกีฬา และ การเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนหัวไหล่อย่างรุนแรงแล้ว โรคบางชนิดมีโอกาสที่จะเกิดอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 

 

  • โรคข้ออักเสบ

เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบในร่างกาย และทำลายข้อต่อ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดและบวมบริเวณตามข้อต่อในร่างกาย ทั้งนี้ตำแหน่งของโรคข้ออักเสบจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยโรคข้ออักเสบที่สามารถพบได้บ่อย เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ และอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบมีโอกาสที่เอ็นหัวไหล่อักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 

 

  • โรคแคลเซียมเกาะข้อไหล่

โรคแคลเซียมเกาะข้อไหล่ (Calcific Tendonitis) หรือที่หลายคนเรียกว่า ภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดรุนแรง โดยโรคนี้สามารถพบได้ตามข้อต่อต่างๆ ในร่างกาย แต่บริเวณข้อหัวไหล่เป็นจุดที่พบแคลเซียมเกาะได้บ่อยมากที่สุด 

 

  • โรคอื่นๆ เช่น กระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อหลังอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ฯลฯ 

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบมักจะรู้สึกปวดทำให้ไม่อยากขยับแขน โดยการงดเคลื่อนไหวข้อไหล่เป็นระยะเวลานานจนทำให้เกิดพังผืดแทรกในข้อต่อรอบหัวไหล่ และส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรงลง ทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่วิธีรักษาที่ถูกต้อง 


สังเกตอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบ

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดไหล่ สงสัยว่าตนเองเข้าข่ายเอ็นหัวไหล่อักเสบหรือเปล่า สามารถลองสังเกตอาการตนเองได้ ดังนี้ 

 

  • ปวดไหล่ตอนกลางคืน ซึ่งเป็นการแสดงอาการที่สำคัญของอาการกล้ามเนื้อหัวไหล่อักเสบ 
  • มีอาการปวดร้าวตั้งแต่บริเวณหัวไหล่ลงไปยังแขน 
  • รู้สึกสะดุด หรือ ติดขัด เวลาเคลื่อนไหวร่างกาย 
  • บริเวณหัวไหล่มีอาการบวม ร่วมกับอาการปวดไหล่ 

เอ็นหัวไหล่อักเสบ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ผู้ป่วยเอ็นหัวไหล่อักเสบ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุและเข้ารับการรักษากับแพทย์ทันที 

 

  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือขยับหัวไหล่ได้นานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีไข้ร่วมกับอาการปวดไหล่
  • หัวไหล่บวม และ มีอาการปวดรุนแรง 
  • รู้สึกชาที่บริเวณแขน 
  • สีผิวบริเวณหัวไหล่หรือแขนเปลี่ยน 
  • แขนและไหล่อ่อนแรง ไม่สามารถยกแขนขึ้นได้ 

 

อ็นหัวไหล่อักเสบ หายเองได้ไหม

สำหรับผู้ที่เข้าข่าย หรือ รู้สึกว่าตัวเองมีอาการคล้ายกับเอ็นหัวไหล่อักเสบ ไม่ควรนิ่งนอนใจหรือปล่อยทิ้งไว้ให้หายเอง เพราะอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบ แม้ว่าจะดูเหมือนอาการปวดไหล่ธรรมดาไม่รุนแรง แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์ อาจจะทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นจนกระทบการทำกิจวัตรในชีวิตประวันจำ การทำงาน หรือ อาจจะร้ายแรงจนทำให้ผู้ป่วยพิการได้ 


การวินิจฉัยเอ็นหัวไหล่อักเสบ

สำหรับผู้ป่วยเอ็นหัวไหล่อักเสบแพทย์ส่วนใหญ่มักจะสามารถวินิจฉัยโรคได้จากการซักประวัติ การใช้ชีวิต การทำกิจกรรม และอาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตรวจลักษณะภายนอกร่างกายของคนไข้ โดยแพทย์บางคนอาจจะมีการใช้วิธีอื่นอย่างการตรวจเอกซเรย์ หรือ การตรวจ MRI ร่วมด้วย ถ้าหากต้องการตรวจพิเศษเพิ่มเติม 

 

1. การตรวจเอกซเรย์

ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าเกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกงอกกับเส้นเอ็น หรือ ภาวะอื่นๆ ของกระดูกและข้อไหล่ แพทย์จะใช้การตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อดูความผิดปกติของกระดูกและข้อ ซึ่งการตรวจเอกซเรย์จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทำให้แพทย์สามารถทราบสาเหตุที่แท้จริงและรักษาได้อย่างถูกวิธี 

 

2. การตรวจ MRI

การตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นการตรวจหาความผิดของเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อบริเวณรอบข้อต่อหัวไหล่ โดยแพทย์มักจะใช้ชีวิตการตรวจ MRI กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดไหล่ เอ็นหัวไหล่อักเสบเรื้อรัง ทดลองรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น 


การรักษาเอ็นหัวไหล่อักเสบ

วิธีรักษาเอ็นหัวไหล่อักเสบ หรือ อาการปวดไหล่ แพทย์จะเลือกใช้วิธีรักษาที่แตกต่างกันแล้วแต่บุคคล ซึ่งวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง อายุ สุขภาพ และดุลยพินิจของแพทย์ โดยการรักษาเอ็นหัวไหล่อักเสบสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้ดังนี้ 
 

1. การรักษาอาการปวดแบบเฉียบพลัน

 

  • การใช้ยารักษาอาการอักเสบ

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดไหล่ เอ็นหัวไหล่อักเสบไม่รุนแรง สามารถรับประทานยารักษา อย่างยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค ไพร็อกซิแคม อินโเมธ่ซิน และชีลีคอกซิบ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวด และอาการบวมลงได้ ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาทุกครั้ง

 

  • การประคบร้อน - ประคบเย็น

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงอย่างเฉียบพลันที่มีสาเหตุมาจากเอ็นหัวไหล่อักเสบ สามารถใช้วิธีประคบเย็น โดยการนำผ้าห่อน้ำแข็ง หรือ ผ้าชุบน้ำเย็นจัด นำไปประคบบริเวณที่ปวด ซึ่งความเย็นสามารถช่วยลดการอักเสบและอาการปวดลงได้ ทั้งนี้การประคบเย็นเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อประคบเย็นเสร็จแล้วควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

 

  • ฉีดยาสเตียรอยด์

สำหรับผู้ป่วยที่ลองทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ หรือ ยาคลายกล้ามเนื้อแล้ว แต่อาการปวดกลับไม่ดีขึ้นและมีอาการปวดอย่างรุนแรงจนผู้ป่วยไม่สามารถทนได้ แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณรอบเส้นเอ็นที่เกิดการอักเสบ ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดการอักเสบและอาการปวดได้ดี แต่ไม่ควรทำบ่อยและควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น 

 

2. การทำกายภาพบำบัด

 

การทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีในผู้ป่วยเอ็นหัวไหล่อักเสบ เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดสามารถช่วยลดอาการปวด บวม และการอักเสบของเส้นเอ็นลงได้ นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยเอ็นหัวไหล่อักเสบยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเส้นเอ็นรอบๆ หัวไหล่ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น 

 

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด

ในกรณีที่ผู้ป่วยปวดไหล่ซึ่งมีสาเหตุมาจากเอ็นหัวไหลอักเสบมานาน และ ลองรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น กายภาพบำบัด รับประทาน และอื่นๆ แต่อาการกลับไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาเอ็นหัวไหล่อักเสบด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันการรักษาเอ็นหัวไหล่อักเสบด้วยการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็นหรือกรอหินปูน 

โดยการผ่าตัดส่องกล้องกับผู้ป่วยเอ็นข้อไหล่อักเสบเป็นการรักษาที่ได้ผลรักษาที่ค่อนข้างดี และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย ใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดอื่นๆ เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมาก 


แนะนำวิธีบริหารหัวไหล่ ป้องกันอาการอักเสบ

สำหรับผู้ที่อาการปวดไหล่ริเริ่ม ไม่รุนแรง ปวดเป็นครั้งคราว แนะนำให้ทำการบริหารหัวไหล่เพื่อป้องกันอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบ และ ลดอาการปวดไหล่ ได้ดังนี้ 

 

  1. ท่าไต่กำแพง ให้ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง หรือ เสา แล้วค่อยๆ เลื่อนมือขึ้นไปด้านบนช้าๆ จนรู้สึกว่าแขนตึง แล้วจึงหยุดค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที โดยทำท่านี้ซ้ำกันประมาณ 10 ครั้งต่อวัน 
  2. ท่าเอื้อมมือ ท่านี้สามารถทำได้ทั้งในขณะที่ยืนหรือนั่ง โดยเอื้อมมือไปรอบด้านหน้าลำตัวจับข้อศอกข้างตรงข้าม และค่อยๆ ดันข้อศอกขึ้นจนรู้สึกตึงบริเวณหัวไหล่ แล้วค้างไว้ประมาณ 20-3- วินาที ทำสลับข้าง ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้งต่อวัน 
  3. ท่าหมุนข้อไหล่ ยืนตรงแล้วค่อยๆ ก้มหลังลงเล็กน้อย โดยใช้มือจับโต๊ะหรือเก้าอี้เพื่อช่วยพยุงตัว ปล่อยแขนอีกข้างห้อยลงตรงๆ ค่อยๆ หมุนแขนเป็นวงกลม โดยหมุนเป็นวงเล็กแล้วจึงขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำสลับข้าง ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้งต่อวัน

ข้อสรุป

แม้ว่าอาการปวดไหล่จะเป็นอาการที่ดูไม่รุนแรงและไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการปวดไหล่ที่มีสาเหตุจากเอ็นหัวไหล่อักเสบเป็นอาการที่ไม่ควรละเลย หรือ มองข้ามอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าผู้ป่วยทิ้งไว้ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีอาจจะทำให้เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อต่อหัวไหล่ได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นพิการได้ 

โดยการรักษาอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบจะขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค สุขภาพ อายุของผู้ป่วย และ ดุลยพินิจของแพทย์ โดยถ้าหากคุณเข้าข่ายอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีทันที 

หากผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่ หรือ เอ็นหัวไหล่อักเสบ สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


References

Thomas, T. (2021, July). Shoulder Impingement/Rotator Cuff Tendinitis. OrthoInfo. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/shoulder-impingementrotator-cuff-tendinitis/

N.D. (2019, Mar 03). Shoulder Tendinitis. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/13203-shoulder-tendinitis

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​