บทความสุขภาพ

โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก หากเป็นไม่มากจะไม่มีอาการแสดงออก โดยโรคกระดูกสันหลังคดเป็นได้ในเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดถึงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่พบได้บ่อย ซึ่งประมาณร้อยละ 80 เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ และจากการวิจัยพบว่าเด็กไทยเป็นโรคนี้ ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 คน ในระยะหลังพบเด็กเป็นโรคนี้มากขึ้น อันเนื่องมาจากพันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็อาจเป็นสาเหตุทำให้หลังคดได้



โรคกระดูกสันหลังคด สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

 

  1. กระดูกสันหลังปกติตั้งแต่แรกเกิด แต่เริ่มมีการคดในภายหลัง และส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่อาจเกี่ยวกับสารฮอร์โมนบางอย่างที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ส่งผลให้การเกิดหลังคดได้ พบได้ประมาณร้อยละ 80 และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอายุ ดังนี้
    • กลุ่มอายุ แรกเกิด – 1 ปี จะเริ่มยืนและเดิน แต่กลุ่มนี้ร้อยละ 90 จะหายได้เอง
    • กลุ่มอายุ 3-10 ปี เริ่มมีจำนวนมากขึ้น ถ้าเป็นมากไม่รักษาจะมีปัญหาในระยะยาวได้
    • กลุ่มอายุ 10-18 ปี จะพบได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ซึ่งหากถ้าเป็นไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่แนะนำให้เฝ้าติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของหลังอยู่เสมอ เพราะกระดูกสันหลังอาจคดมากขึ้น และมากจนทำให้ร่างกายผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะตรวจวัดองศาความคดของกระดูก ถ้าพบว่าคดระหว่าง 30-40 องศา ในอายุต่ำกว่า 15 ปี จะแก้ไขได้ด้วยการใส่เสื้อสำหรับแก้ความคด ถ้าทำตามคำแนะนำของแพทย์จะมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ความคดเพิ่มขึ้น ต้องแก้ไขด้วยวิธีการผ่าตัด โดยใส่เหล็กดามให้กระดูกสันหลังตรงขึ้น
  2. กระดูกสันหลังคดตั้งแต่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกิดจากยาที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์ กลุ่มนี้เกิดจากกระดูกผิดปกติ เช่น การเจริญของกระดูกสันหลังไม่เท่ากันหรือไม่สมดุลกัน ถ้ากระดูกสันหลังคดแล้วจะคดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาทันที เพราะถ้าเป็นมากๆ อาจส่งผลให้เป็นอัมพาตได้
  3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น มีความผิดปกติของสมอง สมองพิการ โรคโปลิโอ โรคของระบบกล้ามเนื้อ ฯลฯ จะมีโอกาสทำให้กระดูกสันหลังคดเมื่อโตขึ้นได้
  4. โรคเท้าแสนปม ร่างกายจะมีปุ่ม หรือปานตามตัว และพบกระดูกสันหลังคดร่วมด้วยประมาณร้อยละ 30


ผู้ปกครองจะสังเกตได้อย่างไร ว่าลูกอาจเป็นกระดูกสันหลังคด

ผู้ปกครองสามารถเช็กอาการของเด็กคร่าวๆได้ด้วยตัวเอง โดยให้เด็กยืนตัวตรง แล้วดูแนวสันหลังว่าตรงหรือไม่ จากนั้นให้เด็กก้มหลังลง มือแตะพื้น ถ้ามองตามเส้นแนวกระดูกสันหลังแล้วไม่คด ก็แสดงว่าปกติ แต่ถ้ามีแนวไม่ตรง และสงสัยว่าจะคด หรือสังเกตุเห็นอาการดังนี้

 

  • แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
  • ระดับหัวไหล่หรือบ่าทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน
  • สะบักหรือกระดูกที่เป็นคล้ายๆ ปีกมีการนูนตัวมากกว่า อีกด้านหนึ่ง
  • ศีรษะไม่อยู่กึ่งกลางในระหว่างแนวกระดูกเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง
  • สะโพกด้านใดด้านหนึ่งยกขึ้น สูงกว่าอีกด้าน
  • กระดูกซี่โครงมีระดับความสูงไม่เท่ากัน
  • ระดับเอวไม่เท่ากัน
  • สภาพผิวมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากอีกด้าน เช่น มีรอยบุ๋ม, มีขนขึ้น, สีผิวเปลี่ยนไปจากเดิม
  • มีการเอียงของลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง


หากพบอาการผิดปกติ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้ามีอาการมากขึ้น จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคตได้ ส่วนกระดูกสันหลังคดตั้งแต่วัยรุ่น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะคดเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ตัวเอียง ไหล่ตก แนวสะโพกเอียง รูปร่างพิการ ปวดหลัง มีปัญหาทางระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่ายเป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ หัวใจทำงานหนัก อาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้

กระดูกสันหลังคดส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

 

  • แนวสะโพกเอียง รูปร่างพิการ
  • ปวดหลัง
  • มีปัญหาทางระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่าย
  • เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ
  • หัวใจทำงานหนักจนสามารถเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้


การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคดทำอย่างไร

นอกจากการดูลักษณะที่ผิดปกติแล้ว แพทย์จะตรวจการทำงานของระบบประสาท และอาจส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติมเพื่อทำการวินิจฉัย และประเมินระดับความรุนแรงของโรค รวมถึงการประเมินอายุกระดูกของผู้ป่วย

ทางเลือกการรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

 

  • การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด ใช้ในกรณีที่เด็กมีมุมองศาที่คดไม่มาก โดยใช้การสังเกตอาการ รักษาทางกายภาพบำบัด หรืออาจใช้เสื้อเกราะในบางราย
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่เด็กมีมุมองศาที่คดมาก หรือมีการเพิ่มของมุมองศาที่คดมากขึ้นขณะติดตามการรักษา
  • กายภาพบำบัด โดยการสอนการจัดท่าขณะนอน การทรงท่า และการออกกำลังกายต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อช่วยรักษาให้กระดูกสันหลังกลับเข้าสู่แนวเดิม หรือให้ใกล้เคียงแนวปกติให้มากที่สุด การรักษาจะจำเพาะแตกต่าง กันไปขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน และการให้การรักษานี้ควรเป็นนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางเกี่ยว กับโรคกระดูกสันหลังคด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​