บทความสุขภาพ

เช็กความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567



ภาวะกระดูกพรุนเสี่ยงแค่ไหน
อวัยวะภายในร่างกายของเรา หากไม่หมั่นตรวจเช็ก เราก็จะไม่มีทางรู้ได้ว่าทุกอย่างปกติดี โดยเฉพาะกับเรื่องกระดูกและข้อ ที่อาจมีความเสี่ยงกระดูกพรุน เสี่ยงต่อการเปราะ หัก แตกง่าย และเมื่อเราก็ไม่มีทางรู้วิธีป้องกันเช่นกัน

องค์ประกอบของกระดูก 
ในร่างกายของเรามีกระดูกอยู่หลากหลายชนิด ทั้งกระดูกที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ เช่น กระดูกแขน ขา กระดูกที่เป็นชิ้นเหลี่ยม เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกตามข้อมือ ข้อเท้า หรือกระดูกที่มีส่วนประกอบที่หนา หรือที่เรียกว่า กระดูกเนื้อแน่น คือ กระดูกทึบ (Cortical Bone) และกระดูกที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง (Cancellous Bone) ซึ่งเพศหญิงเสี่ยงต่อกระดูกหักมากเป็น 3 เท่าของเพศชาย เพราะกระดูกบางและพรุนมากกว่า ซึ่งในกระดูกประกอบไปด้วย

 

  • เยื่อหุ้มกระดูก เป็นเยื่อหนาๆ โดยเฉพาะกระดูกที่มีลักษณะยาว ในเด็กจะมีอยู่มากกว่าผู้ใหญ่ มีไว้เพื่อความเจริญเติบโตของกระดูกและซ่อมแซมกระดูกเมื่อเวลากระดูกหักได้ด้วย
  • ไขกระดูก มีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือด มีองค์ประกอบของเซลล์ในการซ่อมแซมให้กระดูกหักสามารถยึดติดกันได้
  • ข้อ เป็นองค์ประกอบของร่างกายที่ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้
  • เอ็น เป็นอวัยวะที่ซับซ้อนโดยเฉพาะข้อเข่า มีไว้เพื่อให้เกิดความมั่นคง
  • กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนที่ยึดติดระหว่างกระดูก 2 ชิ้น เช่น กล้ามเนื้อที่เข่าจะยึดติดกับกระดูกเชิงกราน อีกส่วนจะยึดติดบริเวณกระดูกข้อเข่า เพื่อให้สามารรถงอ และเหยียดได้
  • เส้นประสาท เป็นอวัยวะที่คอยรับคำสั่งจากสมอง เพื่อส่งต่อไป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของแขน ขา ลำตัว และเป็นส่วนที่ให้เกิดความรู้สึกที่ผิวหนัง
  • หลอดเลือด เพื่อนำโลหิตไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งกระดูก และข้อ
  • ฮอร์โมน คือ สารคัดหลั่งจากต่อมไร้ท่อ เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย หน้าที่ต่างๆ ของเพศ และประกอบกับการควบคุมแคลเซียมที่ไปจับกระดูก


สารที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกคือ แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็กและอื่นๆ เช่น อิเล็กโตรไลท์ โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียมจะจับกับกระดูกต้องอยู่ในเส้นเลือด ซึ่งได้จากการรับประทานอาหารประเภทแคลเซียมโดยตรง แล้วจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสโลหิต

ที่มาของกระดูกและความหนาแน่นของกระดูก 
เมื่อตอนเราอยู่ในท้องแม่ ก่อนอื่นกระดูกเราจะเป็นกระดูกอ่อนก่อน แล้วแคลเซียมจะจับมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่เกิดจนไปถึงวัยรุ่น 16-17 ปี และเมื่อพ้นวัย 25 ปีแล้ว ปริมาณแคลเซียมที่จะไปจับกับกระดูกจะลดลง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกระดูกบางหรือพรุน

 

  • ฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง การหมดประจำเดือนเร็ว หรือวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ซึ่งจะทำให้กระดูกบางหรือพรุนได้ และมีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังยุบตัวจนหลังโก่ง
  • พันธุกรรมและเพศ เพศหญิงรูปร่างบาง น้ำหนักตัวน้อยมากเกินไป
  • เชื้อชาติ ชาติที่ไม่ค่อยเป็นโรคกระดูกพรุนคือชาวนิโกร
  • อายุ ร่างกายจะมีมวลเนื้อกระดูกสูงสุดเมื่ออายุ 25 ปี และความหนาแน่นของกระดูกจะคงที่ไปถึงอายุ 40 ปี
  • อาหาร รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย และอาหารที่มีปริมาณไขมันจัด
  • ชีวิตประจำวัน ผู้ที่ไม่เคยถูกแสงแดดช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เป็นช่วงแสงแดดจัด หากโดนแดดนานอาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้ จะให้ดีควรโดนแดดก่อนเที่ยง หรือหลังจาก 15.00 น.
  • แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นตัวชะลอการดูดซึมของแคลเซียม
  • การได้รับยาบางชนิด เช่น ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้กระดูกบาง พรุน หรือกล้ามเนื้อลีบได้


ภาวะโรคกระดูกพรุน 
ภาวะกระดูกพรุนเกิดจากความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงร่วมกับความเสื่อมของโครงสร้างภายในกระดูกด้วย นอกจากความแข็งแรงของกระดูกจะลดลงแล้ว ยังทำให้กระดูกเปราะ หัก แตกง่าย แต่หากกระดูกสันหลังหักยุบอาจเกิดการกดทับเส้นประสาททำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ และมีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักง่ายได้อีกด้วย
การรับประทานแคลเซียมเข้าไปเป็นจำนวนมากก็อาจไม่ดูดซึมดีกว่าเดิมได้ เนื่องจากขาดฮอร์โมน และวิตามินดีเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการดูดซึมแคลเซียมไปจับที่กระดูก

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคกระดูกพรุน
เราจะทราบมวลความหนาแน่นของกระดูกได้จากการตรวจวัดจากแพทย์ โดยทั่วไปมักนิยมตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่าย 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine) กระดูกข้อสะโพก (Hip) และกระดูกปลายแขน หรือข้อมือ (Wrist) ถ้าค่าน้อยกว่า -2.5 แปลว่ากระดูกพรุนแล้ว ส่วนใหญ่จะวัดจากส่วนกระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง เพราะเป็นตัวที่ให้ดัชนีชี้บ่งค่อนข้างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน จะเริ่มเข้าสู่ภาวะกระดูกบาง

เช็คค่าความหนาแน่นมวลกระดูก
20% ของผู้หญิงไทยวัย 40-80 ปี เป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ แต่ทราบได้จากการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก
ค่าความหนาแน่นมวลกระดูกจะคำนวณเป็นค่าที่เรียกว่า T- score (T) ซึ่งใช้เป็นค่าวินิจฉัยภาวะความหนาแน่นมวลกระดูก เช็คผลได้ดังนี้

 

  • ค่า T score ที่มากกว่า –1 ถือว่าความหนาแน่นกระดูกปกติ
  • ค่า T score ที่อยู่ระหว่าง –1 ถึง –5 คือ กระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T score ที่น้อยกว่า –5 คือ กระดูกพรุน (Osteoporosis)


วิธีการรักษา
 

  • กรณีที่กระดูกไม่หัก จะให้ทานแคลเซียม ตรวจร่างกายและรักษาตามอาการ
  • กรณีที่กระดูกเคลื่อนที่ไม่มากและไม่ต้องการผ่าตัด จะทำการเข้าเฝือกให้ผู้ป่วย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 2-3 เดือน หรือมากกว่านั้น จนกว่าจะติดประสานกัน
  • สำหรับกระดูกเคลื่อนที่มากๆ เช่น กระดูกสะโพกหัก แพทย์จะแนะนำให้ผ่าเพื่อให้กระดูกสมานกันเร็วขึ้น ไม่ต้องเข้าเฝือกนาน อาจจะนำเหล็กไปยึด โดยเหล็กสามารถอยู่ถาวรได้ หรือชั่วคราวก็ได้


การป้องกันภาวะกระดูกพรุน
 

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (อย่างน้อยครั้งละ 20-30 นาที) จะช่วยให้มวลกระดูกมีความแข็งแรงและหนาแน่นมากขึ้น
  • เปลี่ยนชีวิตประจำวัน โดยการออกไปถูกแสงแดดบ้าง
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารกลุ่มแคลเซียม หรือวิตามินดีให้เพียงพอ ซึ่งมีในนม ปลากรอบ เนยแข็ง เห็ดหอม ถั่วเหลือง ถั่วแดง กุ้งแห้ง และผักใบเขียว เช่น ใบชะพลู ผักคะน้า ผักกระเฉด ยอดสะเดา ใบโหรพา และลดอาหารประเภทไขมันจัดที่ทำให้กระดูกบางลง
  • ป้องกันการขาดฮอร์โมนเพศ ด้วยการปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย และรับฮอร์โมนทดแทนเป็นประจำ


ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ควรออกกำลังกายหรือไม่
ควรออกกำลังกาย ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่ระดับความรุนแรงจะอยู่ช่วงอายุ 70 ปี ขึ้นไป และควรระมัดระวังอย่าให้เกิดการหกล้ม

เช็คภาวะเสี่ยงกระดูกพรุน

 

  • สตรีเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และรับประทานอาหารเค็มจัดเป็นประจำ
  • สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ใช้ยาสเตียรอยด์ ยารักษามะเร็ง ยากันชัก ยากันลิ่มเลือดแข็ง หรือได้รับยาฮอร์โมนไทรอยด์เป็นเวลานาน
  • ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน หรือหกล้มแล้วมีกระดูกหักในครอบครัว


**หากมีภาวะเสี่ยง 3 ใน 5 ของข้อมูลข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนต่อไป


แพคตรวจสุขภาพที่แนะนำ
 

  • แพคเกจฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
  • แพคเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด Zostavax Vaccine
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
  • แพคเกจตรวจภาวะกระดูกพรุน
  • แพคเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตันเฉียบพลัน
  • แพคเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ
pdpa-icon

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ นโยบายความเป็นส่วนตัว​ (Privacy Policy)​